เครื่องหมายอัศเจรีย์

แผนจัดการ ขยะ ล้มเหลว  เกิดวิกฤตขยะในไทย

25 พฤศจิกายน 2565

ขยะ 1

ข้อมูลการก่อขยะของประเทศไทยแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดยในปี 2563 คนไทยก่อขยะมูลฝอยเฉลี่ย 1.13 กิโลกรัม ต่อคน ต่อวัน หรือคิดเป็น 27.35 ล้านตันต่อปี  กระจายตามจังหวัดต่าง ๆ ทั้งใน กทม. ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ตั้งแต่ 500 ตันต่อวัน ไปจนถึงมากกว่า 2,000 ตันต่อวัน  

สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวถึงข้อมูลสถิติงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 พบว่า ประเทศไทยสร้างขยะพลาสติกต่อประชากรสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลกโดยมีปริมาณขยะพลาสติก 4,796,494 ตัน/ปี  (หรือราว 69.54 กิโลกรัม/ปี/คน) และมีสัดส่วนขยะพลาสติกในขยะทั่วไปมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ปริมาณพลาสติกในประเทศไทยแบ่งเป็นประเภทถุงพลาสติก 1.11 ล้านตัน ขวดพลาสติก0.40 ล้านตัน แก้วกล่องและถาดพลาสติก 0.23 ล้านตันตามลำดับ

ขยะ 2

น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้   กล่าวว่า   ส่วนหนึ่งของขยะที่เพิ่มขึ้นมาจากการจัดการขยะของประเทศไทยที่ยังคงเน้นไปที่ปลายทาง  ซึ่งก็คือการฝังกลบ  ส่งผลให้มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ราคาของที่ดินและปริมาณขยะที่ล้น   มากกว่าที่จัดการลดขยะที่ต้นทาง  ทำให้ขยะเข้าสู่ระบบมากขึ้นสร้างผลกระทบให้กับทุกพื้นที่   

….เมื่อขยะล้นเมืองไม่สามารถฝังกลบได้ทัน

เมื่อการฝังกลบไม่สามารถทำให้ขยะลดลง  ประเทศไทยจึงเพิ่มอีกหนทางของการจัดการขยะปลายทาง นั่นก็คือ การเผา   ที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าขยะ  25 โรง  ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ชัยนาท ชุมพร เชียงใหม่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช มหาสารคาม ยะลา ราชบุรี สงขลา สมุทรปราการ สระแก้ว สุโขทัย อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นนทบุรี ระยอง หนองคาย กระบี่ ตาก อุดรธานี และกรุงเทพมหานคร   นอกจากนี้การเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยยังกำหนดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะถึง 400 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีในระบบราว 500 เมกะวัตต์ 

จริยา
น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

น.ส.จริยา  กล่าวว่า  แผนพัฒนาพลังงานทดแทนด้วยการผลิตไฟฟ้าจากโรงงานเผาขยะ  หากมองผิวเผินก็ดูเหมือนเป็นการนำพลังงานหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด  แต่หากมองในรายละเอียดลึกมากกว่านั้น  การเริ่มต้นของการตั้งโรงเผาขยะเพื่อจัดการภูเขาขยะในระยะเวลา 10 ปี  นั่นหมายความว่าหากภูเขาขยะหมดไปแล้ว เราจะยังต้องสร้างขยะเพิ่มเพื่อป้อนเข้าโรงเผาขยะในสร้างไฟฟ้า  รวมถึงการนำเข้าขยะจากต่างจังหวัดเพื่อป้อนให้กับกลุ่มทุนสร้างโรงขยะ  และที่หนักกว่านั้นภาระของโรงไฟฟ้าขยะที่กลับเข้ามาก็จะกลายเป็นผลกระทบ  ด้านต้นทุนในเรื่องของสุขภาพประชาชน  แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่ได้มีการประเมินค่าความเสียหายจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่เกิดขึ้นต่อทั้งต้นทุนสุขภาพ การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และในการก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

โรงไฟฟ้าขยะวิกฤตสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ

นอกจากภาคการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทราบกันดีว่าเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนแล้ว  โรงไฟฟ้าขยะเป็นอีกต้นทางของตัวก่อภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Emergency) นอกจากกระบวนการการย่อยสลายของขยะในหลุมฝังกลบจะปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซเรือนกระจกแล้ว การนำขยะไปเผาก็จะทำให้เกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์อีกด้วย

การเผาขยะคือการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นกัน เพราะขยะส่วนใหญ่ที่ถูกนำไปเผาหรือทำก้อนเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าเป็นขยะพลาสติก (ซึ่งพลาสติกเหล่านี้พลาสติกร้อยละ 99 ก็ทำมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล) นอกจากจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว โรงไฟฟ้าขยะยังจะส่งผลกระทบหนักต่อสุขภาพของเราและสิ่งแวดล้อมเนื่องจากทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ ไดออกซิน ฝุ่น PM2.5)  ปรอทโลหะหนักอีกหลายตัว   

เพราะวิธีการจัดการขยะที่ล้มเหลว  แทนที่จะกระตุ้นด้วยการลดขยะที่ต้นทาง  แต่รัฐบาลกลับให้ความสำคัญแก้ปัญหาปลายทางด้วยการใช้วิธีการกำจัดขยะ  ดังนั้นขยะก็จะไม่หายไปจากระบบและทำให้เกิดภูเขาขยะ

(ภาพพีระมิดด้านขวาคือการจัดการขยะจากคำแนะนำขององค์กร U.S. Environmental Protection Agency (EPA) โดยการจัดการขยะที่ต้องลดที่ต้นทางเป็นความสำคัญที่สุด แต่หากเราพิจารณาจากนโยบายและความเป็นจริงของการจัดการขยะของรัฐบาลคือ การฝังกลบและโรงไฟฟ้าขยะต้องมาก่อน)

แผนการจัดการขยะในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับโรงไฟฟ้าขยะที่ไม่สามารถที่จะปลดระวางได้ในขณะนี้  และยังเปิดประตูให้โรงไฟฟ้าขยะเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องทำรายงานผลกระทบ  ดังนั้นต้องตั้งคำถามว่าโรงงานไฟฟ้าขยะที่เกิดขึ้นตอบรับการจัดการกองขยะทั่วประเทศได้พอหรือยัง  เมื่อโรงไฟฟ้าทั่วประเทศหากรองรับขยะได้หมด  ต้องคู่ขนานตัดตอนขยะที่จะไม่ให้เกิดภูเขาขยะขึ้น  แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เห็นความชัดเจน

….ภูเขาขยะในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

นายสนธิ  คชวัฒน์  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย  เปิดเผยสถิติภูเขาขยะในประเทศไทย  ปี 2564  ปริมาณขยะชุมชนที่เกิดขึ้น 24.98 ล้านตัน  กำจัดถูกต้อง 9.26 ล้านตัน  กำจัดไม่ถูกต้อง 7.81 ล้านตัน นำกลับมาใช้ประโยชน์ 7.89 ล้านตัน  โดยมีสถานที่กำจัด 2,137 แห่ง  เป็นสถานที่กำจัดที่ไม่ถูกหลักสุขาภิบาลถึง 2,021 แห่ง  โดยนำไปเทกองไว้บริเวณกลางแจ้งเป็นภูเขาถึง 1,670 กอง  ซึ่งขยะในนั้น มีทั้งขยะอาหารถึง 37.76%  มีขยะอุตสาหกรรมและขยะติดเชื้อปนเปื้อนด้วย  โดยในปีที่ผ่านมาเกิดไฟไหม้ถึง 20 แห่ง  รวมทั้งถูกน้ำท่วมและน้ำล้อมรอบหลายแห่ง  แต่ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือกองขยะที่จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดเลย

….ทำไมประเทศถึงมีกองขยะภูเขาจำนวนมาก

สาเหตุมาจากการจัดการขยะของประเทศไทยที่มีหน่วยงานดูแลมากเกินไป  จึงเกิดปัญหาเรื่องการทับซ้อนของหน่วยงาน และอำนาจหน้าที่  รวมถึงการขาดหน่วยงานกลางที่จะเป็นเจ้าภาพที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ  ไม่ว่าจะเป็น  

  • กรมควบคุมมลพิษและสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ  รับผิดชอบจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 วางแผนและของบประมาณ
  • กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและจังหวัดของกระทรวงมหาดไทยกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการจัดการขยะในท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535  สนับสนุนรถเก็บขยะ เครื่องมือเก็บขยะให้ท้องถิ่น
  • กรมอนามัยและสาธารณสุขจังหวัด  กระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบจัดการขยะจากชุมชนและสถานพยาบาลตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535  ออกกฎระเบียบต่างๆ ส่งไปให้ท้องถิ่น
สนธิ
นายสนธิ  คชวัฒน์  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย

นายสนธิ  กล่าวด้วยว่า  กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศไทย ไม่ได้กำหนดให้มีหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลด้านการจัดการขยะระดับชาติแบบเบ็ดเสร็จ  โดยเฉพาะหลายหน่วยงานมีกฎหมายเป็นของตัวเอง  มีทั้งการออกประกาศกฎกระทรวงจำนวนมาก  มีการตั้งหน่วยงานภายในกรมมาทำหน้าที่ทั้งออกกฎหมายและการจัดการขยะ  แต่ข้อเท็จจริงทุกอย่างถูกโยนให้เป็นภาระของท้องถิ่นทั้งหมด  ไม่ว่าจะเป็น อบต. ,เทศบาลตำบล ,เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร  

สุดท้ายไม่มีใครจัดการอย่างจริงจัง  ส่วนใหญ่ท้องถิ่นไม่มีนักสิ่งแวดล้อมหรือนักอนามัยสิ่งแวดล้อมไปทำงานเพื่อจัดการขยะตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขและมหาดไทยที่เขียนไว้  เช่น ให้ประชาชนแยกขยะที่แหล่งกำเนิด  การฝังกลบต้องแบบสุขาภิบาล  เอาขยะมาทำแท่งเชื้อเพลิง  หรือ RDW เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาขยะผลิตไฟฟ้า  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ท้องถิ่นไม่ได้ให้ความสนใจ  จึงนำขยะไปเทกองเพราะง่ายและสะดวกกว่า  จึงทำให้เกิดกองขยะภูเขาจำนวนมากทั่วประเทศ

นายสนธิ  เสนอแนะ  ควรยกเลิกกฎหมายขยะชุมชนที่มีอยู่ให้หมดและร่างกฎหมายใหม่ออกมาเป็น “พระราชบัญญัติการจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนแห่งชาติ”  ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติไปดำเนินการให้เบ็ดเสร็จ  แบ่งหน้าที่ของรัฐส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น  ผู้ประกอบการและประชาชนให้ชัดเจน  ทำให้เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว  มีการจัดการตั้งแต่ต้นทางและปลายททาง  ครอบคลุมให้มีการส่งเสริมการรีไซเคิลทั้งผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์

ขยะ 1

แชร์