เครื่องหมายอัศเจรีย์

สำรวจลมหายใจ “แม่สาย” สองเดือนมีวันอากาศดีแค่ 13 วัน

เข้าสู่วันที่ห้า ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตกอยู่ในวงล้อมฝุ่น PM 2.5 ในระดับวิกฤต (สีแดง) ซึ่งแม้วันนี้ (28 มี.ค.) ตัวเลขจะลดลงจากเมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) แต่ก็ยังสูงเกิน 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเมื่อเวลา 07.00 น. ระบุตัวเลขค่าฝุ่นอยู่ที่ 519 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ถึง 10 เท่า

แม่สาย

“ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ” สำรวจข้อมูลสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ย้อนหลังไปถึงเดือนมกราคม 2566 พบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 เริ่มเกินมาตรฐานตั้งแต่วันแรกของเดือนกุมภาพันธ์และอยู่ในสถานการณ์นี้ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน (เดือนมกราคม พื้นที่นี้มีวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานแค่เพียง 1 วัน) โดยเมื่อนับจำนวนวันตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 28 มีนาคม พบว่า มีเพียง 13 วัน เท่านั้น จากทั้งหมด 56 วัน ที่คนแม่สายได้สัมผัสอากาศที่ไม่เป็นพิษ 

เมื่อดูวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน (สีส้ม และสีแดง) พบว่า วันที่ 27 มีนาคม เป็นวันที่ค่าฝุ่นพุ่งสูงที่สุดคือ 546 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และยังสูงที่สุดของภาคเหนืออีกด้วย และหากดูเฉพาะเดือนมีนาคม พบว่า มีเพียง 3 วันเท่านั้น (คือช่วงวันที่ 16 – 18 มีนาคม) ที่คนแม่สายพอจะได้พักปอด มีอากาศดีหายใจ เพราะที่เหลือจากนั้น คนแม่สายก็ต้องจมอยู่ในดงฝุ่นพิษ ในระดับที่เกินมาตรฐานต่อเนื่องกันถึงปัจจุบัน

คำอธิบายระดับค่าฝุ่น

สีฟ้า   คุณภาพอากาศดีมาก   0–25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

สีเขียว  คุณภาพอากาศดี  26–37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

สีเหลือง  คุณภาพอากาศปานกลาง 38–50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานของ คพ.)

สีส้ม   เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 51-90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

สีแดง  มีผลกระทบต่อสุขภาพ  มากกว่า 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ขณะที่ จ.เชียงใหม่ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประสบภัยฝุ่นพิษในระดับวิกฤต โดยเฉพาะพื้นที่ ต.หางดง อ.ฮอด ตลอด 56 วัน นับจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 28 มีนาคม พื้นที่นี้จมอยู่ในดงฝุ่นพิษในระดับเกินค่ามาตรฐานมากถึง 49 วัน (หรือเท่ากับคนฮอดมีวันที่ได้สูดอากาศดีเพียง 7 วันเท่านั้น) และในจำนวนนี้เป็นวันที่ค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดงมากถึง 37 วัน 

แชร์