
โครงการฟื้นฟูป่าชายเลนกำลังช่วยชุมชนที่อาศัยอยู่บนเกาะชวาในประเทศอินโดนีเซียให้รอดพ้นจากน้ำท่วมที่รุนแรงขึ้นจากภาวะโลกรวนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนติดริมฝั่ง น้ำทะเล บนเกาะชวาต้องคอยขนดินและหินไปถมพื้นที่ฝังศพของชุมชนอยู่เป็นประจำเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างของเพื่อนและญาติที่เสียชีวิต ลอยไปกับน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้นจนเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง
หมู่บ้าน Timbulsloko เป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขต Demak ทางตอนเหนือของอินโดนีเซียที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากกว่าหมู่บ้านอื่นถึงสามเท่าด้วยปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการทรุดตัวของพื้นดินจากการขุดน้ำบาดาล การถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงที่สุดของพื้นชายฝั่งรอบหมู่เกาะจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และระดับน้ำ ทะเล หนุนสูงจากภาวะโลกรวน
ชาวบ้านกว่า 3,000 คนในหมู่บ้าน Timbulsloko ผู้เลือกที่จะไม่ย้ายบ้านไปที่อื่น ต้องจ่ายเงินจ้างรถบรรทุกขนดินและหินจากภูเขาใกล้เคียงเพื่อนำไปถมพื้นที่ฝังศพของชุมชนและพื้นยกพื้นบ้านให้สูงกว่าระดับ น้ำทะเล
ชาวประมงวัย 51 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านและได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำท่วมเล่าว่า น้ำท่วมรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ปี 2551 หลังจากที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะลง โดยน้ำเริ่มท่วมทุกวัน และเกิดขึ้นตลอดทั้งวัน

ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจากหมู่บ้าน Timbulsloko จึงเข้าร่วมโครงการนำร่องเพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนเพื่อหวังปกป้องหมู่บ้านจากภัยน้ำท่วม โดยโครงการนี้มีจุดประสงค์ในการฟื้นฟูผืนป่าชายเลยที่เคยถูกแผ้วถางในหลายหมู่บ้าน และปกป้องชุมชนชาวประมงและวิถีชีวิตของพวกเขาให้รอดพ้นจากน้ำท่วม
โครงการนี้ซึ่งริเริ่มโดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ Wetlands International นี้ แตกต่างจากโครงการปลูกป่าชายเลนอื่นๆ ตรงที่ไม่มีการปลูกป่าชายเลนใหม่ แต่เป็นการพลิกโฉมบ่อเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่ทรุดโทรมให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวและอ่างเก็บน้ำที่อุดมด้วยตะกอนเพื่อช่วยให้ป่าชายเลนกลับมาเจริญเติบโตตามธรรมชาติอีกครั้ง และเพิ่มประชากรปลาไปด้วยในคราวเดียวกัน ป่าชายเลนถือเป็นปราการป้องกันน้ำท่วมและชายฝั่งชั้นดี
อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีผืนป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เล็งเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูป่าชายเลน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเป็นโครงการที่ประธานาธิบดีโจโค วิโดโดให้ความสำคัญและมีแผนจะนำเสนอต่อผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุม G-20 ที่กำลังจะจัดขึ้นที่บาหลีในปีนี้
อินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ตั้งอยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟของโลก หรือ The Pacific Rim of Fire มีหมู่เกาะมากกว่า 17,000 เกาะ และเผชิญความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติหลายอย่างตั้งแต่แผ่นดินไหว สึนามิ ไปจนถึงภูเขาไฟระเบิด
ผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกรวน เช่น น้ำท่วมที่รุนแรงขึ้นนับเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสี่ยงใหญ่หลวงให้กับประเทศอินโดนีเซียอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
องค์กร Wetlands International ระบุว่า ประชาชนประมาณ 30 ล้านคนที่อาศัยอยู่ที่ทางตอนเหนือของเกาะชวากำลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมชายฝั่งอย่างหนัก ทำให้พวกเขาไม่มีที่อยู่และไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้
คาดว่าระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงจนทำให้เกิดน้ำท่วมในเขต Demak เป็นพื้นที่เข้ามาในแผ่นดินถึง 6 กิโลเมตร ทั้งที่หลายหมู่บ้านต่างประสบภัยน้ำท่วมจนต้องสร้างสะพานไม้ไผ่เพื่อใช้เดินข้ามเข้าบ้านอยู่แล้ว
น้ำท่วมในหมู่บ้าน Timbulsloko ส่วนใหญ่เกิดจากการแผ้วถางป่าชายเลนในระยะกว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อนำไปทำบ่อเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ
กำแพงคอนกรีตกั้นน้ำท่วมที่รัฐบาลสร้างขึ้นค่อยๆ พังลงและไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ดีนัก เพราะแผ่นดินในเกาะชวามีการทรุดตัวเป็นวงกว้างจากการขุดน้ำบาดาลโดยภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน
ด้วยเหตุนี้เอง ในปี 2015 Wetlands International ได้ร่วมมือกับชาวบ้าน 9 คนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลของเขต Demak เป็นระยะกว่า 20 เมตร
โครงการได้นำผู้เชี่ยวชาญชาวดัตช์และอินโดนีเซียมาร่วมกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการกลับมาขึ้นใหม่ตามธรรมชาติของป่าชายเลน และใช้ความรู้ของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในสร้างกำแพงไม้ไผ่ในทะเลที่สามารถกักเก็บตะกอนและสร้างสภาวะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเกิดใหม่ของป่าไม้

โครงการนี้ใช้งบประมาณทั้งหมด 5 ล้านเหรียญสหรัฐและไม่พึ่งพาการปลูกป่าชายเลนที่ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จเพียง 10-15% เท่านั้น
Susanna Tol เจ้าหน้าที่ด้านการรณรงค์ของ Wetlands International กล่าวว่า แม้การทรุดตัวของพื้นดินจะเป็นอุปสรรคในบางพื้นที่ โครงการฟื้นฟูป่านี้มีโอกาสจะประสบความสำเร็จมากถึง 75% โดยประเมินจากปริมาณของตะกอนที่อุดมสมบูรณ์และการเกิดใหม่ของป่าชายเลน นอกจากนี้โครงการยังนำงบประมาณส่วนหนึ่งไปพัฒนาอาชีพให้กับชาวบ้านด้วย
กระทรวงการประมงของอินโดนีเซียได้นำโครงการนี้ไปปฏิบัติใน 13 เขตอื่นทั่วประเทศ ขณะที่ Wetlands International ได้มีบทบาทในการสนับสนุนหน่วยงานด้านการฟื้นฟูป่าชายเลนของอินโดนีเซียในการร่างเอกสารข้อควรปฏิบัติของโครงการ
โครงการนี้ยังได้ก่อให้เกิดการจับกลุ่มในชุมชนเพื่อช่วยกันสร้างพื้นที่สีเขียวสำหรับป่าชายเลนอย่างแข็งขัน สอนวิธีการอนุรักษ์ป่าชายเลน ส่งเสริมการประมงและการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำอย่างยั่งยืน และมีการตั้งกองทุนประจำชุมชนเพื่อการฟื้นฟูป่า
Suratno ชาวประมงผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเล่าว่า เขาสร้างกำแพงไม้ไผ่ในทะเลเพื่อป้องกันน้ำท่วมหมู่บ้าน และใช้เงินที่ได้จากกองทุนในการซื้อแหและเรือเพื่อนำมาปล่อยเช่า ทั้งนี้ เขามองว่าป่าชายเลนมีประโยชน์มากมายหลายประการ อีกทั้งทำให้จำนวนนกและปลาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และถึงแม้น้ำทะเลจะกลับมาหนุนสูงถึงระดับชายฝั่งอีกครั้ง แต่เขาเชื่อว่าคราวนี้ชาวบ้านจะรับมือได้
ป่าไม้ชายเลนมีประมาณ 80 สายพันธุ์ ส่วนมากจะพบในพื้นที่แถบศูนย์สูตรของโลก เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและแหล่งอาหารของระบบนิเวศอันกว้างใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญต่อการประมง
แม้ว่าป่าชายเลนจะมีคิดเป็นเพียง 1% ของป่าร้อนชื้นทั่วโลก แต่ป่าไม้เหล่านี้สามารถกักปริมาณคาร์บอนไว้ใต้พื้นดินได้เป็นอย่างดี ป้องการกัดเซาะของชายฝั่ง และช่วยลดแรงกระแทกของคลื่นลมแรง
อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO เปิดเผยว่า ป่าชายเลนกำลังมีปริมาณลดลง แม้จะลดในอัตราที่ช้าลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าชายเลนในโลกลดลงมากกว่า 6 ล้านไร่ในช่วงระหว่างปี 2533 ถึง 2563

Chris Mcowen หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ศูนย์ World Conservation Monitoring Centre ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ป่าชายเลนลดลงเกิดจากการตัดไม้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ การนำพื้นที่ไปทำฟาร์มเพาะพันธุ์ปลา และการขยายของเมืองไปสู่พื้นที่ชายฝั่ง
ทั้งนี้ อินโดนีเซียได้เล็งเห็นคุณค่าของป่าชายเลน และจัดตั้งโครงการเพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนที่ทรุดโทรมเมื่อปีที่แล้ว โดยตั้งเป้าฟื้นฟูป่าจำนวน 3.75 ล้านไร่ภายในปี 2567 แม้โครงการจะหยุดชะงักไปเพราะการระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ตาม Chris Mcowen กล่าวว่าโครงการฟื้นฟูป่าจะไม่ล้มเหลวในภายหลังหากมีการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ย้ำว่า การฟังเสียงของชาวบ้านก่อนทำโครงการเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น และประโยชน์ของการฟื้นฟูป่าชายเลนในวันนี้อาจไม่ปรากฎในทันทีแต่จะปรากฎในอีก 20-30 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ผลจากการคืนบ่อเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเก่าให้เป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับป่าชายเลนเริ่มปรากฎให้เห็นแล้วในหมู่บ้านข้างเคียงอย่าง Tambakbulusan ซึ่งประสบเหตุน้ำท่วมลดลง และชาวบ้านสามารถจับปลาในธรรมชาติขายได้ราคาดี
ผู้นำชุมชนคนหนึ่งเล่าว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านต่างเชื่อว่าป่าชายเลนช่วยให้อากาศสะอาดและทำให้พวกเขาสุขภาพดี ทุกคนต่างหันมารักษาป่าชายเลน และเลิกการตัดไม้ โดยโครงการฟื้นฟูป่ายังทำให้ปริมาณและคุณภาพของปลาในน้ำเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น