เครื่องหมายอัศเจรีย์

“โจ ไบเดน” กล่าวอะไรไว้ในการประชุม COP27

27 พฤศจิกายน 2565

ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้ร่วมงานจากราว 200 ประเทศ เขาเตือนว่าโลกกำลังจะเผชิญหัวเลี้ยวหัวต่อในการต่อสู้กับวิกฤตโลกรวนและให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ จะทำตามเป้าหมายการลดโลกร้อนภายในปี 2030 รวมทั้งกล่าวขอโทษต่อการถอนตัวจากข้อตกลงปารีสของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนหน้าและย้ำถึงการนำพาสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ข้อตกลงดังกล่าวทันทีเมื่อตนเองเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี   

โจ ไบเดน

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังเรียกร้องให้ผู้นำโลกลงมือทำมากขึ้น โดยสหรัฐฯ จะรับบทบาทเป็นแกนนำด้านการรับมือปัญหาโลกรวน และจะสร้างอนาคตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เมื่อสหรัฐฯ ลงมือทำแล้ว ทุกฝ่ายควรจะลงมือเช่นกัน เพราะสิ่งนี้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้นำทั่วโลก 

เขากล่าวถึงวิกฤตโลกรวนที่สร้างความสูญเสียและเสียหายในทุกพื้นที่ทั่วโลกโดยระบุว่าไม่มีใครปลอดภัยจากภัยคุกคามจากปัญหาโลกร้อนได้ ซึ่งการร่วมมือกันเป็นหนทางเดียวในการรับมือวิกฤตนี้และขอให้ชาติอื่นๆ เดินตามรอยสหรัฐฯ ในการยกระดับความพยายามลดการปล่อยมลพิษที่เป็นสาเหตุทำให้โลกรวนอย่างรวดเร็ว พร้อมประกาศว่าในฐานะผู้นำประเทศเขาจะทำให้สหรัฐฯ บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 อย่างแน่นอน 

ไบเดนกล่าวว่าการลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงอย่างน้อย 30% ภายในปี 2030 เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีส และวิกฤตอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในโลก รวมถึงการบุกยูเครนของรัสเซีย ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะลดละความทะเยอทะยานในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่กลับแสดงให้เห็นว่าขณะนี้การปฏิบัติตามเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศกลายเป็นเรื่องที่เร่งด่วนยิ่งกว่าเดิมเพราะสงครามของรัสเซียมีแต่จะเร่งรัดให้โลกต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลิกพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 

นอกจากนี้ ไบเดนยังใช้โอกาสในการกล่าวสุนทรพจน์เผยแผนการรับมือโลกร้อนซึ่งเป็นมาตรการชุดใหม่ที่จัดทำขึ้นเพื่อการตัดลดการปล่อยก๊าซมีเทนในสหรัฐฯ สนับสนุนระบบการเตือนภัยภัยพิบัติล่วงหน้าในแอฟริกา และข้อตกลงสนับสนุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในอียิปต์ แลกกับการให้อียิปต์เลิกใช้โรงไฟฟ้าพลังงานแก๊สและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

COP

ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่าวิกฤตโลกรวนเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของมนุษย์ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงแห่งชาติ และชีวิตของดาวดวงนี้ ซึ่งเขาย้ำถึงข้อเสนอเมื่อปี 2021 ที่จะให้งบประมาณปีละ 11,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ​ ภายในปี 2024 เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์​ และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ โดยเงินจำนวนนี้ซึ่งอยู่นอกเหนือจากกองทุนชดเชยความสูญเสียและความเสียหายเป็นสิ่งที่ประเทศร่ำรวยให้คำมั่นไว้ภายใต้กรอบข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015  

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังกล่าวถึงกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ​ ที่จะมุ่งสู่การใช้แบตเตอรี่ ไฮโดรเจน และเทคโนโลยีอื่นๆ และยังเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะออกกฎให้ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซภายในประเทศต้องตรวจจับและแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของมีเทนให้ได้ พร้อมกล่าวถึงความยากลำบากในการพยายามผ่านกฎหมายเพื่อลดโลกร้อนที่เขาผลักดันมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก กระทั่งมีโอกาสประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 ในฐานะประธานาธิบดีในที่สุด 

ที่มา https://www.theguardian.com/environment/live/2022/nov/11/cop27-egypt-joe-biden-climate-conference-decarbonisation-live-updates?CMP=Share_iOSApp_Other

https://www.reuters.com/business/environment/cop27-biden-says-climate-crisis-is-about-human-security-economic-security-2022-11-11/

https://www.nytimes.com/2022/11/11/climate/biden-cop27-climate-speech.html

แชร์