พายุ เฮอร์ริเคนเอียนและเฮอร์ริเคนฟิโอนาพัดพาน้ำฝนปริมาณมหาศาลเข้าสู่พื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินเป็นบริเวณกว้าง และตัวการคือสภาวะโลกร้อน
นักอุตุนิยมวิทยากล่าวเตือนเมื่อเฮอร์ริเคนฟิโอนาพัดถล่มเปอร์โตริโกก่อนหน้านี้ว่า “น้ำคือสิ่งที่ต้องระวัง” พร้อมกับที่เฮอร์ริเคนเอียนกำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้ด้วยความรุนแรงระดับ 4 ก่อนจะพัดขึ้นฝั่งรัฐฟลอริดาในเวลาต่อมา
น้ำที่ว่าหมายถึงน้ำฝนและคลื่นซัดฝั่ง ซึ่งปรากฏการณ์ทั้งสองรุนแรงและสร้างความเสียหายได้มากขึ้น โดยมีโลกร้อนเป็นปัจจัยซึ่งทำให้รูปแบบของพายุเฮอร์ริเคนทั่วโลกเปลี่ยนไปจากเดิม

เฮอร์ริเคนฟิโอนาทำให้มีฝนตกลงมาในเปอร์โตริโกมากกว่า 787 มิลลิเมตรในเวลาเพียง 72 ชั่วโมงจนทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง รวมถึงเกิดดินถล่ม ส่วนในฟลอริดา พายุ ฝนฟ้าคะนองจากเฮอร์ริเคนเอียนปกคลุมพื้นส่วนใหญ่ของรัฐ และลามไปถึงรัฐจอร์เจียรวมถึงนอร์ทและเซาท์แคโรไลนา โดยศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติสหรัฐฯ คาดการณ์ก่อนหน้านั้นว่าจะมีน้ำสูงกว่าระดับพื้นดินถึง 5.5 เมตร พร้อมความเสี่ยงเกิดคลื่นซัดฝั่งที่สามารถกระทบบ้านเรือนที่อยู่อาศัยซึ่งตั้งอยู่ไกลจากริมชายฝั่งได้
“ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับที่โลกร้อนขึ้น ซึ่งหมายความว่าคลื่นซัดฝั่งจะสูงขึ้นและพัดไกลเข้าไปในแผ่นดินมากขึ้นด้วย” Kristina Dahl นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจาก Union of Concerned Scientists กล่าว ปรากฏการณ์นี้จะทำให้บ้านเรือน ธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เคยปลอดภัยจากคลื่นซัดฝั่งกลับกลายเป็นจุดเปราะบางที่อาจจะเผชิญอันตรายได้อย่างไม่ทันตั้งตัว
ขณะที่พายุต่างๆ มีความชื้นมากขึ้นเพราะภาวะโลกรวนเช่นกัน อากาศที่อุ่นขึ้นจะกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ฝนที่ตกลงมาในปริมาณมากขึ้น ดังเช่นฝนที่ตกในฤดูร้อนทั่วสหรัฐฯ
พายุเอียนที่พัดถล่มสหรัฐฯ มีความชื้นสูงมากและยังเคลื่อนตัวช้า ฟลอริดาไม่ใช่รัฐที่กว้างนัก แต่ก็ยังใช้เวลานานกว่าพายุจะพัดผ่านออกนอกพื้นที่ ทำให้พายุมีเวลามากขึ้นที่จะสร้างผลกระทบจากฝนตกและน้ำท่วม การศึกษาเมื่อปี 2018 โดยนักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) พบว่าพายุเฮอร์ริเคนที่พัดถล่มสหรัฐฯ เคลื่อนตัวช้าลง 17% ตั้งแต่ปี 1947 ซึ่งเมื่อผนวกรวมกับฝนที่ตกมากขึ้นจึงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมมากขึ้นด้วย

ฤดูมรสุมโดยปกติแล้วจะอยู่ระหว่าง 1 มิถุนายน – 30 พฤศจิกายนของแต่ละปี และอาจมีพายุเกิดขึ้นก่อนหรือหลังจากนั้นได้โดยไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ปีนี้นักอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะเกิดพายุขนาดใหญ่ 14-20 ลูกในช่วงฤดูมรสุม โดยอิงข้อมูลปัจจัยอย่างปรากฏการณ์ลานีญาและกระแสลมกรด แต่เดือนสิงหาคมปีนี้ก็ผ่านไปอย่างไร้วี่แววของพายุรุนแรงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1997
“เกิดช่องว่างขึ้นตรงนั้นและเราไม่รู้สาเหตุว่าทำไม ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการศึกษาเรื่องนี้” Joel Cline ผู้ประสานงานโครงการจากหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าว “การพยากรณ์ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้นเป็นไปได้ว่าอาจมีพายุเข้ามาอีกมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า”
สอดคล้องกับข้อมูลจาก NOAA ที่ชี้ว่าสหรัฐฯ อาจต้องเผชิญพายุเฮอร์ริเคนขนาดใหญ่อีกมากถึง 8 ลูก ภายในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
หลักฐานที่พิสูจน์ว่าโลกร้อนทำให้พายุในเขตร้อนเกิดบ่อยครั้งขึ้นยังไม่หนักแน่นนัก แต่สิ่งที่เรารู้แน่ชัดแล้วคือตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 จำนวนพายุที่ทวีความรุนแรงจนแตะระดับ 4-5 เกิดบ่อยครั้งขึ้นและเป็นผลโดยตรงจากการที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เฮอร์ริเคนฟิโอนาทวีกำลังแรงขึ้นเป็นระดับ 4 ระหว่างเคลื่อนตัวเข้าใกล้เบอร์มิวดา และเฮอร์ริเคนเอียนพัดถล่มรัฐฟลอริดาด้วยความรุนแรงระดับ 4 เช่นกัน
“เหตุผลหลักที่ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเป็นเพราะพายุทวีกำลังแรงขึ้นได้จากความร้อนในมหาสมุทร ดังนั้นความร้อนที่มีมากขึ้นจากฝีมือมนุษย์ก็ไม่ต่างจากการเติมเชื้อไฟ” Dahl กล่าว โดยมหาสมุทรดูดซับความร้อนที่เพิ่มขึ้นจากฝีมือมนุษย์ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาไว้มากกว่า 90%

ไม่เพียงแต่พายุเท่านั้นที่รุนแรงและสร้างความเสียหายมากขึ้น นักวิจัยในช่วงทศวรรษที่ 1970 ยังพบว่าพายุมีกำลังแรงขึ้นในเวลาที่สั้นลง ผ่านกระบวนการที่เรียกว่าการทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว (rapid intensification) ซึ่งอาจเป็นผลจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน ในปี 2017 ที่เปอร์โตริโก เฮอร์ริเคนมาเรียซึ่งทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ และทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3,000 คน ทวีความรุนแรงจากเฮอร์ริเคนระดับที่ 1 เป็นระดับที่ 5 ภายในเวลาเพียง 15 ชั่วโมง
ปรากฏการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คน เพราะการเตรียมการรับมือเฮอร์ริเคนระดับที่ 1 แตกต่างจากการเตรียมพร้อมรับมือเฮอร์ริเคนที่มีความรุนแรงระดับ 5 นอกจากนี้ยังหมายความว่าชุมชนที่อยู่อาศัยต่างๆ รวมถึงหน่วยฉุกเฉินจะมีเวลาอพยพ กักตุนสิ่งของจำเป็น รวมถึงดูแลความปลอดภัยของผู้สูงอายุและผู้ป่วยน้อยลง การพยากรณ์ว่าปรากฏการณ์ที่พายุทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วจะเกิดขึ้นเมื่อไรยังคงอยู่ระหว่างการศึกษา เช่นเดียวกับการวิจัยถึงความเชื่อมโยงระหว่างลมเฉือนกับการเกิดพายุที่มีความรุนแรงมหาศาล
ลมเฉือนเกี่ยวข้องกับความแรงและทิศทางลมในจุดที่อยู่สูงขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ซึ่งปัจจุบันเราทราบว่าพายุเฮอร์ริเคนจะก่อตัวขึ้นได้และคงตัวอยู่เป็นพายุก็ต่อเมื่อกระแสลมไม่ผันผวนมากนัก ขณะที่ลมเฉือนซึ่งพัดในแนวตั้งด้วยความเร็วสูงอาจก่อพายุเฮอร์ริเคนได้ด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างของพายุและทำให้อากาศที่เย็นและแห้งพัดเข้าไปที่ใจกลางของพายุ ส่วนอุณหภูมิของอากาศและมหาสมุทรที่สูงขึ้นอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดลมเฉือนที่มีความเร็วสูงได้ แต่หลักฐานยืนยันสมมติฐานนี้ยังไม่มีข้อสรุปอย่างชัดเจน

ขณะที่หลักวิชาฟิสิกส์ที่ใช้ในการคำนวณและพยากรณ์การเกิดพายุเฮอร์ริเคนไม่ได้หยิบเอาหลักการเรื่องความเท่าเทียมเข้ามาพิจารณาด้วย ตอกย้ำให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้เหมือนๆ กัน เนื่องจากปรากฏหลักฐานเพิ่มมากขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอดีตที่สะท้อนว่าประเทศและชุมชนซึ่งมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด กลับเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงจะเผชิญกับสภาวะอากาศสุดขั้วอย่างพายุเฮอร์ริเคนได้มากที่สุด
ชุมชนที่มีรายได้ต่ำและชุมชนของคนผิวสีเป็นกลุ่มที่มีโอกาสจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมและเผชิญคลื่นซัดฝั่งมากที่สุด “นอกจากนี้พวกเขายังเป็นกลุ่มที่จะเดือดร้อนมากที่สุดในการฟื้นฟูและซ่อมแซมชุมชนขึ้นมาใหม่ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมเชิงระบบในการกระจายความช่วยเหลือในสหรัฐฯ ด้วย” Dahl กล่าว
พายุเฮอร์ริเคนเอียน ทำให้คิวบาไฟดับทั้งประเทศ เช่นเดียวกับเฮอร์ริเคนฟิโอนาที่สร้างความเสียหายแบบเดียวกันในเปอร์โตริโก และการฟื้นฟูบนประเทศเกาะทั้ง 2 แห่งนี้จะล่าช้ากว่าในรัฐฟลอริดาอย่างมาก
ท่ามกลางมูลค่าความเสียหายจากพายุรุนแรงเหล่านี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ตอนนี้ตกเป็นภาระของประชาชนผู้จ่ายภาษี หน่วยงานที่เคลื่อนไหวด้านกฎหมายและชุมชนกำลังเรียกร้องให้อุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลเข้ามามีส่วนช่วยแบกรับภาระนี้ “มีหลักฐานกองพะเนินเทินทึกว่าบริษัทพลังงานฟอสซิลรับรู้ถึงอันตรายมาแล้วหลายสิบปี แต่ยังคงเดินหน้าทำธุรกิจในรูปแบบเดิม ดังนั้นจึงมีแรงขับเคลื่อนที่ต้องการบีบให้พวกเขาร่วมมีส่วนรับผิดชอบทางการเงินเพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนในการรับมือกับพายุและซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย” Dahl กล่าวทิ้งท้าย