Thailand Web Stat Truehits.net
เครื่องหมายอัศเจรีย์

“โลกร้อน – โรคระบาด” วิกฤตสาธารณสุขในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม

โรคระบาด – โรคติดต่อ

ในความสัมพันธ์ระหว่าง “โลกร้อน” กับ “โรคระบาด” ต้องเข้าใจก่อนว่า “โรคระบาด” สัมพันธ์กับโรคติดต่อ โรคระบาดก็คือ โรคติดต่อ หรือโรคที่เรายังไม่ทราบสาเหตุที่เกิดโรคแน่นอน ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา

คำว่า “มากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา” ในศัพท์ทางวิชาการ จะใช้คำอย่างเช่น สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งโรคติดต่อบางส่วนสามารถจะกลายเป็นโรคระบาดหรือแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ไม่ใช่โรคติดต่อทุกชนิดที่จะต้องเป็นโรคระบาด

จากมุมมองของการควบคุมป้องกันโรค มีการแยกโรคติดต่อเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มที่  1 เรียกว่า “โรคติดต่ออันตราย” หมายถึง โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว คำว่า “รุนแรงสูง” แปลว่า “เป็นแล้วเสียชีวิตได้ในเวลาอย่างรวดเร็ว แล้วก็อาจจะมีคนจำนวนมากต้องเสียชีวิต”

กลุ่มที่ 2 คือ “โรคที่ต้องเฝ้าระวัง” ซึ่งก็คือโรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ หรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดให้ 13 โรค เป็นโรคติดต่ออันตราย เช่น กาฬโรค ไข้ทรพิษ อีโบลา ซาร์ส เมอร์ส และวัณโรค ส่วนโควิด – 19 เคยเป็นโรคติดต่ออันตราย แต่หลังจากวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ได้มีการออกประกาศว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว โรคโควิด – 19 จึงถูกปรับไปอยู่กลุ่ม “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” ปัจจุบัน ประเทศไทยมี 57 โรค ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น โรคไข้กาฬหลังแอ่น ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ หัดเยอรมัน คางทูม ไข้เลือดออกเดงกีหรือไข้เลือดออกช็อกเดงกี โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ไข้มาลาเรีย รวมทั้งการติดเชื้อในโรงพยาบาลก็ถือเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ล่าสุดคือ โรคฝีดาษลิง และโรคโควิด – 19

โรคระบาด – โรคติดต่อนำโดยพาหะ

เมื่อพูดถึง “โลกร้อน” อาจจะไม่ได้รวมโรคระบาดทั้งหมดหรือโรคติดต่อทุกกลุ่ม แต่จะมีโรคติดต่ออยู่กลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะโลกร้อนกับโรคติดต่อกลุ่มนั้น ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Vector borne diseases” แปลเป็นไทยคือ “โรคติดต่อที่นำโดยพาหะ”

อย่างไรก็ตาม แม้โรคติดต่อที่นำโดยพาหะจะเป็นโรคติดต่อทุกโรค แต่มีเพียงบางโรคเท่านั้นที่มีศักยภาพเป็นโรคระบาด เช่น ไข้มาลาเรีย หรือไข้เลือดออก ที่พบผู้ป่วยจำนวนมากอย่างรวดเร็ว

องค์การอนามัยโลกนิยาม “โรคติดต่อนำโดยพาหะ” คือ โรคที่เกิดในคน โดยเชื้อก่อโรคอาจเป็นปรสิต ไวรัส หรือแบคทีเรีย มีพาหะนำโรค เรียกว่า Vector คำว่า “พาหะ” หมายถึงสิ่งชีวิตที่นำเชื้อโรคจากคนสู่คนหรือจากสัตว์สู่คน ซึ่งส่วนใหญ่คือแมลงดูดเลือด หรืออาจจะเป็นสัตว์สี่ขาก็ได้

“ยกตัวอย่างวงจรของโรคติดต่อนำโดยพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก เริ่มต้นจากมีคนป่วยโรคไข้เลือดออกอยู่ แล้วยุงลายที่นำเชื้อไข้เลือดออกได้ไปกัดคนไข้คนนั้นก่อน จากนั้นเชื้อจะเข้าไปเจริญเติบโตในตัวยุง เมื่อถึงเวลาและมีจำนวนมากพอ หรือมีศักยภาพมากพอที่จะก่อโรค ยุงลายก็จะบินไป เมื่อไปเจอคนปกติ ก็จะกัดแล้วปล่อยเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนนั้น เชื้อก็จะไปก่อโรคในคนต่อไป”

โรคติดต่อกลุ่มนี้ที่คนส่วนใหญ่อาจจะคุ้นเคย ได้แก่ โรคที่นำโดยยุงลาย เช่น ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยาหรือว่าโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ไข้เหลือง ซิกา ถ้าเป็นยุงก้นปล่องก็คือไข้มาลาเลีย และยังรวมถึงไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นที่มียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค และ “กาฬโรค” ที่นำโดยหมัดหนู รวมทั้งโรคเห็บ ซึ่งหมายความว่า พาหะ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นยุงเสมอไป แต่เป็นสัตว์อะไรก็ได้ที่มีพฤติกรรมดูดเลือดแล้วสามารถรับเชื้อโรคเข้าไป แล้วเชื้อโรคเข้าไปเจริญในตัวสัตว์ และเมื่อสัตว์ที่เป็นพาหะไปกัดคนปกติทำให้เราเป็นโรคต่อได้

เมื่อปี พ.ศ.2565 องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่า โรคติดต่อที่นำโดยพาหะ เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 17 ของโรคติดต่อทั้งหมดทั่วโลก หรือประมาณว่าใน 5 คนจะเป็นโรคติดต่อที่นำโดยพาหะ 1 คน และทำให้เกิดการเสียชีวิตประมาณ 7 แสนรายต่อปี และโดยมากคนที่เสียชีวิตจะเป็นคนอายุน้อยหรืออยู่ในวัยทำงาน ซึ่งองค์การอนามัยโลกเรียกภาวะแบบนี้ว่า “ภาระโรคที่สูง” หมายถึงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ยิ่งอายุน้อยเท่าไรก็ยิ่งเป็นภาระมากขึ้น

“ทำให้โรคติดต่อที่นำโดยแมลงหรือโดยพาหะ เป็นโรคที่องค์การอนามัยโลกบอกว่า เรายังต้องสนใจมันอยู่ เรายังต้องจัดการ ต้องมีการควบคุมป้องกัน”

โลกร้อน – โรคระบาด

คำถามคือ โรคติดต่อนำโดยพาหะสัมพันธ์กับสภาวะโลกร้อนอย่างไร คำตอบคือ ทำให้ “พาหะ” เพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งมีหลายตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ในกรณีสภาวะโลกร้อนจะเน้นที่ตัวแปรทางอุตุนิยมวิทยาหรือเรื่องของสภาพของภูมิอากาศ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของยุงลาย มี 3 ตัวแปรทางอุตุนิยมวิทยาที่สำคัญกับการเจริญเติบโต ได้แก่ ปริมาณน้ำฝน ความชื้นสัมพัทธ์ และอุณหภูมิ

ยกตัวอย่างเรื่องอุณหภูมิ จะเห็นว่าประเทศซาอุดิอาระเบียหรือประเทศอาหรับที่อุณหภูมิเกิน 30 องศา จะไม่ค่อยเจอยุงลายเพราะยุงลายไม่ชอบความร้อนขนาดนั้น ขณะที่ในประเทศเมืองหนาวที่อุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาก็จะไม่พบยุงลายเช่นเดียวกัน เนื่องจากยุงลายจะชอบและเจริญเติบโตในช่วงอุณหภูมิระหว่าง 20 – 30 องศาเซลเซียส รวมทั้งในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนมาก หรือมีอากาศร้อนชื้น เพราะความชื้นสัมพัทธ์สูงยุงลายก็จะเจริญเติบโตได้ดี

“จะเริ่มเห็นความเชื่อมโยงแล้วว่า สภาพโลกร้อนทำให้แหล่งเพาะพันธุ์มีมากขึ้น หรือว่าไปกระตุ้นทำให้เขาเจริญเติบโตได้มากขึ้น พาหะมันเยอะขึ้น เพราะนั้นก็จะมีโอกาสนำโรคมากขึ้น”

นอกจากนี้ การปรับตัวเพื่อรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่นการเคลื่อนย้ายของตัวพาหะเอง หรือการเคลื่อนย้ายของประชาชน ก็ทำให้โรคติดต่อนำโดยพาหะแพร่กระจายได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น ขึ้นเครื่องบินแล้วมียุงเกาะไปด้วย การเคลื่อนย้ายในลักษณะนี้ ก็ทำให้พาหะอาจจะไปเจริญเติบโตในที่ใหม่ได้

มีเอกสารทางวิชาการที่เขียนเมื่อปี พ.ศ.2561 พูดถึงโรคติดต่อที่นำโดยพาหะกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ระบุมีหลักฐานว่า โรคติดต่อบางโรคโดยเฉพาะโรคติดต่อนำโดยพาหะ มีความสัมพันธ์กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป เอกสารวิชาการนี้นำเสนอคำศัพท์ใหม่ 3 คำ คำแรกคือ Climate-sensitive health impacts แปลว่า ผลกระทบต่อสุขภาพที่หากอากาศร้อนขึ้นผลกระทบก็จะเพิ่มมากขึ้น

คำที่สองคือ Weather-sensitive pathogens หมายถึงเชื้อโรคที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิหรือสภาพภูมิอากาศ และคำสุดท้ายคือ Climate change adaptation คือการปรับพฤติกรรมของทั้งคน และพาหะที่นำมาซึ่งการแพร่กระจายหรือระบาดของโรคติดต่อที่นำโดยพาหะที่มากขึ้น เอกสารนี้ได้นำ 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปในช่วงย้อนหลังประมาณ 5 ปีที่ไม่เคยพบมาก่อน เหตุการณ์แรก พบว่า เห็บที่นำโรคกลุ่ม Lyme disease ซึ่งปกติจะต้องพบในอีกพิกัด แต่ปรากฏว่ามีการพบที่พิกัดที่สูงขึ้นตามเส้นรุ้ง

เหตุการณ์ที่ 2 มีการพบว่ายุงลายที่นำไข้เลือดออก ซิกา ไข้ปวดข้อยุงลาย รวมทั้งแมลงชนิดหนึ่งที่เราเรียกว่า sandfly ที่นำ “โรคลิชมาเนีย” มีการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในยุโรป คาดการณ์ว่าสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นของยุโรปทำให้พาหะนี้เจริญเติบโต และสามารถอยู่ได้ในที่ที่มันไม่เคยอยู่มาก่อน เพียงแค่อุณหภูมิเปลี่ยนเท่านั้น

เหตุการณ์สุดท้าย เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2553  หน้าร้อนปีนั้นในทวีปยุโรปมีสภาพอากาศที่ร้อนมากผิดปกติ หลังจากหน้าร้อนผ่านไปพบว่ามีการระบาดของไข้ West Nile เป็นจำนวนมาก ผู้คนในยุโรปฝั่งตะวันออกเฉียงใต้เจ็บป่วยนับแสนคน ซึ่งไวรัส West Nile ปกติจะไม่พบในยุโรป และไม่ทำให้คนป่วยมากขนาดนั้น แต่เมื่ออากาศร้อนขึ้น ยุงที่นำเชื้อ West Nile มีมากขึ้น จึงทำให้คนป่วยมากขึ้น

โลกรับมือ โลกร้อน – โรคระบาด

ในการประชุมสมัชชาสุขภาพโลกขององค์การอนามัยโลก เมื่อปี พ.ศ.2550 หรือที่เรียกว่า World Health Assembly ได้มีการเห็นชอบแผน Global Vector Control Response หรือการควบคุมพาหะ และเริ่มดำเนินการช่วงปี พ.ศ.2560 – 2573

กลยุทธ์หลักที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศสมาชิกใช้ในการควบคุมโรคติดต่อนำโดยพาหะ คือการควบคุมตัวพาหะ (Vector Control) เช่น การควบคุมยุง ทำยังไงให้ยุงไม่เกิด ไม่แพร่พันธุ์

กลยุทธ์นี้เน้นการสร้างองค์ความรู้ ยกตัวอย่างประเทศไทย เดิมเคยมีความเข้าใจว่าไข้มาลาเรียหายไปแล้ว ทำให้เมื่อคนไข้มาโรงพยาบาลก็จะไม่ถามว่าเป็นมาลาเลียหรือไม่ เพราะฉะนั้นต้องสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชน และหน่วยบริการโรงพยาบาลได้ตระหนักรู้ว่าโรคกลุ่มนี้ยังมีอยู่ และยิ่งประชากรเคลื่อนย้ายจะยิ่งมีโรคนี้เกิดขึ้น

กลยุทธ์ที่สอง เน้นว่า ควรจะมีการปรับโครงสร้างหรือกลไกการทำงานในประเทศเพื่อทำงานร่วมกันให้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นกรณีของไข้มาลาเลีย หรือ PK ที่เป็นมาลาเรียจากลิงสู่คนที่มีการพบจำนวนมากในปี พ.ศ.2565 กรมควบคุมโรคต้องทำงานกับกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพราะสัตว์ที่เป็นพาหะนำคือลิงป่า กรมควบคุมโรคไม่สามารถเข้าป่าไปจับลิง ไม่รู้ว่าลิงอยู่ตรงไหนหรือกำลังเคลื่อนย้ายไปไหน เพราะฉะนั้นต้องทำงานร่วมกัน

“ขณะเดียวกันก็ต้องยกระดับการเฝ้าระวังและติดตาม คือเราต้องรู้เท่าทันว่าตอนนี้มีความเสี่ยงว่าจะเกิดโรคติดต่อนำโดยพาหะมากขึ้น หรือจะต้องรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น”

ส่วนอีก 2 กลยุทธ์สำคัญที่องค์การอนามัยโลกได้เน้นย้ำนอกจากการควบคุมพาหะ คือการให้ความรู้จนประชาชนสามารถปรับพฤติกรรมได้ ที่สำคัญคือพฤติกรรมป้องกันตัวไม่ให้พาหะกัด และกลยุทธ์การจัดการด้านสุขาภิบาล ซึ่งจะมีผลต่อการลดแหล่งเพาะพันธุ์ของพาหะ

นักระบาดวิทยา – นักอุตุนิยมวิทยา จับมือ รับโรคระบาด

ส่วนการดำเนินการในประเทศไทย นอกจากการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์เพื่อกำจัดตัวพาหะ ยังต้องป้องกันตัวไม่ให้ถูกพาหะกัดและรู้สึกสงสัยว่าจะเป็นโรคกลุ่มนี้ ก็ต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรายงานโรค

ต่อมาคือการเฝ้าระวัง กรมควบคุมโรคต้องเฝ้าระวังว่าไข้เลือดออกที่กำลังระบาดหรือมีการเจ็บป่วยอยู่นั้นเป็นสายพันธุ์ไหน เพื่อนำไปสู่การเตรียมการได้ถูกต้อง และยังต้องมีการพยากรณ์และเตือนภัย

“ทุกวันนี้นักระบาดวิทยาต้องทำงานร่วมกับนักอุตุนิยมวิทยา เพื่อเอาข้อมูลมาพยากรณ์ว่า ถ้าปีนี้ปริมาณฝนตกนอกฤดูฝนเยอะมาก พอฝนตกลงมานอกฤดูฝนเราจะไม่ใส่ใจกับการคว่ำภาชนะ ทำให้เกิดพาหะนำโรคขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องมาเน้นกับการพยากรณ์เตือนภัยด้วยข้อมูลของอุตุนิยมวิทยา เพื่อทำให้การเฝ้าระวังหรือการควบคุมป้องกันของเราได้ผลมากขึ้น”

นอกจากนี้ ประชาชนจะต้องได้รับข้อมูลเพียงพอ เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันว่าโรคติดต่อโดยพาหะอาจจะมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเพราะว่าสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ขณะที่ภาครัฐก็ต้องมีการบูรณาการงานระหว่างหน่วยงาน เพื่อนำข้อมูลมาแชร์กันในการเตือนภัย และทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน เพื่อทำให้ประชาชนสามารถที่จะป้องกันตัวเองได้จากโรคกลุ่มนี้ ประเทศไทยเราจะได้ไม่มีภาระโรคที่เพิ่มจากโรคติดต่อที่นำโดยพาหะ

แชร์