
งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ชี้ว่าความล้มเหลวในการจำกัดอุณหภูมิของ โลก ไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส อาจก่อให้เกิด “จุดพลิกผัน” ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้
จุดพลิกผันทางภูมิอากาศ (Climate Tipping Point) คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดจากภาวะ โลกร้อน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่สามารถแก้ไขให้ย้อนคืนมาเป็นดังเดิมได้ และจะนำพาระบบภูมิอากาศของโลกเข้าสู่สภาวะอันตราย ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางภูมิอากาศ

นักวิทยาศาสตร์เฝ้าสังเกตการณ์จุดพลิกผันทางภูมิอากาศรวม 16 ประการมาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ โลก ในปัจจุบันกำลังจะทำให้โลกเดินทางไปสู่จุดพลิกผัน 6 ประการในอนาคตอันใกล้นี้
จุดผลิกผัน 6 ประการ ได้แก่
– การแตกตัวของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์
– การแตกตัวของแผ่นน้ำแข็งเวสต์แอนตาร์กติก
– การเปลี่ยนแปลงของระบบหมุนเวียนมหาสมุทรในเขตขั้วโลก แถบแอตแลนติกเหนือ
– การตายของแนวปะการังในแถบเขตร้อน
– การละลายอย่างฉับพลันของชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) ในเขตตอนเหนือ
– การสูญเสียมวลน้ำแข็งอย่างฉับพลันในทะเลแบเรนตส์

งานวิจัยดังกล่าวจัดทำขึ้นจากการศึกษารวบรวมข้อมูลเอกสารวิชาการต่างๆ กว่า 200 ฉบับ ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2008 และพบว่าแต่ละครั้งที่โลกร้อนขึ้นเพียง 0.1 องศาเซลเซียส ความเสี่ยงที่จุดพลิกผันเหล่านี้จะเกิดขึ้นก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นเงาตามตัว
แนวคิดเกี่ยวกับจุดพลิกผันทางภูมิอากาศริเริ่มขึ้นโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า หากโลกผ่านจุดผลิกผันเหล่านี้ไปแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อระบบของโลกโดยรวม ซึ่งจะมีผลต่อมหาสมุทร สภาพอากาศ และกระบวนการทางเคมี ซึ่งอาจไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากเมื่อระบบต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว จะเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องไปได้เองเรื่อยๆ แม้ว่าอุณหภูมิของโลกจะไม่ได้ร้อนขึ้นอีกเลยก็ตาม
เมื่อแรกเริ่มที่โลกได้รู้จักแนวคิดจุดพลิกผันทางภูมิอากาศ นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าโลกจะเผชิญจุดพลิกผันเหล่านี้ก็ต่อเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 5 องศาเซลเซียส แต่หลังจากนั้นเมื่อพบหลักฐานการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงสรุปได้ว่าจุดพลิกผันเหล่านี้เกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่คาดหลายเท่าตัว
David Armstrong McKay จากมหาวิทยาลัย Exeter ผู้นำทีมจัดทำผลการวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า แถบขั้วโลกเริ่มปรากฏสภาวะที่สะท้อนถึงผลกระทบก่อนการเกิดจุดพลิกผันทางภูมิอากาศ เช่น ในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาขณะนี้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้นกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนถึง 6 เท่าตัว และแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์หดเล็กลงต่อเนื่องมาแล้ว 25 ปีจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
ในอนาคตหากแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์และเวสต์แอนตาร์กติกผ่านจุดพลิกผันไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอีก 10 เมตรก็เป็นได้ แม้ว่าจะต้องใช้เวลากว่าจะเกิดขึ้นอีกนับร้อยๆ ปีก็ตาม
แม้ว่าจุดพลิกผันอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น การเหี่ยวเฉาของผืนป่าแอมะซอน จะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าอุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นแตะระดับ 3.5 องศาเซลเซียส แต่ว่าปรากฏการณ์ต่างๆ อันเป็นผลจากโลกร้อนเหล่านี้เชื่อมโยงถึงกันทั้งหมดและหากมีระบบใดระบบหนึ่งล้มเหลวลง ก็อาจส่งผลให้แนวโน้มที่ระบบอื่นๆ จะล้มเหลวไปตามๆ กันมีมากขึ้นได้เช่นกัน
(เรียงเรียงจาก https://www.bbc.com/news/science-environment-62838627 )