
ศ.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ เกี่ยวกับกรณีการค้นพบและเฝ้าระวังโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยในประเทศ โดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อย BA.2 ว่า จากการศึกษาพบว่าความแตกต่างระหว่าง สายพันธุ์ BA.1, BA.2 มีไม่มากนัก แต่ BA.2 อาจมีโอกาสแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่า และหลบเลี่ยงพันธุกรรมได้น้อยกว่า ส่วนระดับความรุนแรงของอาการระหว่าง ทั้ง 2 สายพันธุ์ ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน เบื้องต้น ไม่สามารถแยกระดับความรุนแรงได้ แต่ เชื่อว่าแทบจะมีความรุนแรงไม่แตกต่างกัน คือ อาการน้อยกว่าเดลตา และติดเฉพาะบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน
ขณะเดียวกันยังมองว่า ธรรมชาติจงใจสร้างสายพันธุ์ย่อย BA.2 ขึ้นมาเพื่อให้เข้ามาแทนที่สายพันธุ์ BA.1 เหมือนที่ สายพันธุ์ BA.1 เข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลตา และในอนาคตอาจทำให้การแพร่ระบาดลดลงจนเหลือการระบาดในลักษณะแบบประจำถิ่น คือสามารถควบคุมได้ และหากไม่มีสายพันธุ์ใหม่มาแทนโอมิครอน เชื่อว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะถึงจุดจบ หรือ ที่เรียกว่า END GAME แต่ทั้งนี้ต้องควบคู่ไปกับการที่ทั่วโลกระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด และด้วยเหตุผลนี้จึงไม่อยากให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกจนเกินไป พร้อมยืนยันว่า วัคซีน ที่มีอยู่ใน ขณะนี้ มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ได้
นอกจากนี้ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ยังกล่าวถึงการพบสายพันธุ์ NeoCoV จนเกิดความกังวลว่าจะเป็นโรคใหม่ คือ โควิด-22 ว่า จากการตรวจสอบพบเป็นคนละสายตระกูลกับโควิด-19 และเป็นไวรัสที่พบในค้างคาว เกิดมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ส่วนตัวจึงเชื่อว่าหากจะเกิดการระบาดในมนุษย์ ก็น่าจะเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ตรงนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง พบว่าไวรัสชนิดนี้มีความคล้ายกับสายพันธุ์ของโรค MERS (เมอร์ส) ที่ขณะนี้มียารักษาอยู่แล้ว จึงต้องติดตามกันต่อไป เบื้องต้น มองว่าสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากกว่าในปัจจุบัน