กลุ่ม Beach for life และตัวแทน เครือข่ายประชาชนกว่า 91 องค์กร ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล เพื่อเรียกร้อง 3 ข้อเสนอในการเร่งแก้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของกำแพงกันคลื่นทั่วประเทศ โดยเฉพาะบริเวณหาดท่องเที่ยวสำคัญ และมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยมีประเด็นสำคัญคือขอให้รัฐบาล มีมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

นายอภิศักดิ์ ทัศนี ตัวแทนจากกลุ่ม Beach for life เปิดเผยกับศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติว่า การก่อสร้างกำแพงกันคลื่น บนชายหาด ยังไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ถูกต้องเพราะที่ผ่านมาพบว่า แม้จะมีโครงสร้างดังกล่าวปรากฏตามชายหาด แต่การกัดเซาะยังคงดำเนินไปบริเวณจุดสิ้นสุดของโครงสร้าง เป็นที่มาที่ทำให้ต้องมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปอย่างไม่รู้จบ และท้ายที่สุด ชายหาดของประเทศไทยก็จะถูกแทนที่ด้วยกำแพงกันคลื่น คงไม่เหลือหาดทรายให้คนรุ่นหลังได้มาใช้ประโยชน์ ซึ่งปัญหานี้นับเป็นปัญหาใหญ่และกระทบกับคนไทยทั้งประเทศ ไม่เพียงเฉพาะคนในพื้นที่ที่มีโครงการเท่านั้น แต่คนภาคอื่น ๆ ทั้งเหนือ อีสาน กลาง และตะวันตก ที่ต้องการมาท่องเที่ยวหาดทราย หรือ ใช้ประโยชน์จากชายหาด ในอนาคตก็อาจไม่หลงเหลือหาดทรายให้ได้มาท่องเที่ยวอีก จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องหันมาให้ความสนใจ และขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของกำแพงกันคลื่น อีกทั้งการนำงบประมาณมหาศาลมาใช้ในโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจากประชาชน หรือ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนตัวมองว่าอาจเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดความไม่โปร่งใส ที่สำคัญคือ หากกำแพงกันคลื่นสามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้จริง จำนวนงบประมาณที่นำมาใช้ในโครงการควรลดลง แต่เมื่อตรวจสอบรายละเอียดการใช้งบประมาณ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพบว่าแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งนั่นอาจเป็นตัวชี้วัดว่า ภาครัฐกำลังใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ผิด

ซึ่งข้อเรียกร้อง ที่เสนอไป ประกอบด้วย
1.ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งแก้ไขมติคณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมืองในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า กรมโยธาธิการฯไม่มีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
2. ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเอาโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ดังเดิม เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิให้แก่ประชาชนและชุมชน รวมถึงเพื่อให้เกิดกระบวนการและกลไกในการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนก่อนดำเนินการโครงการกำแพงกันคลื่น
3. ขอให้คณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้มีการฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาดังเดิม

กลุ่ม Beach for life และ ภาคีเครือข่ายทวงคืนชายหาด ระบุว่า หลังจากนี้จะให้เวลารัฐบาลในการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวเป็นเวลา 10 วัน หากครบกำหนดแล้ว ยังไม่มีความชัดเจนหรือความคืบหน้าจากข้อเรียกร้องที่ยื่นไป ทางกลุ่มฯจะยกระดับการเคลื่อนไหว โดยจะนำประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นมาที่ กทม.เพื่อให้รัฐบาลมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น