เครื่องหมายอัศเจรีย์

ไทย เฝ้าระวังน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ รั่วไหลลงสู่ทะเล

นายยุทธนา ตุ้มน้อย นักชีววิทยารังสีชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานปรมาณู ในฐานะรองโฆษกสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง 7.3 แมกนิจูดขึ้น บริเวณฝั่งตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น และมีการประกาศเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิ บริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ล่าสุดสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ประสานข้อมูลเหตุการณ์ความคืบหน้าร่วมกับ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังไม่พบความผิดปกติทั้งในเรื่องของความเสียหายและระดับรังสีที่เปลี่ยนแปลง โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์กำลังตรวจสอบสถานะของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ซึ่งได้แก่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิชิ (Fukushima Daiichi NPP) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอินิ (Fukushima Daini NPP) และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โอนากาวา (Onagawa NPP)

จากกรณีที่มีรายงานว่าอาจจะเกิดสึนามิ และ อาฟเตอร์ช็อกตามมา เบื้องต้น รองโฆษกสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ให้ความเห็นว่าความรุนแรง ของอาฟเตอร์ซ็อกหลังจากนี้จะลดระดับลงและไม่ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2011 ที่มีระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่ 9.3 ทั้งนี้ หากเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงและสึนามิขนาดใหญ่ขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวในอนาคต อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายขึ้นกับถังเก็บน้ำปนเปื้อนรังสีที่รอเข้าสู่กระบวนการบำบัดและอาจทำให้มีการรั่วไหลของน้ำที่ปนเปื้อนรังสีลงสู่ทะเลได้ โดยสารกัมมันตรังสีเหล่านั้น เช่น ซีเซียม-137 (Cs-137) ที่มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี จะไปสะสมในระบบนิเวศทางทะเลรวมถึงอาหารทะเล และสามารถสะสมในมนุษย์ผ่านทางการบริโภค นอกจากนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจการประมงและธุรกิจการส่งออกอาหารทะเลของประเทศญี่ปุ่น สำหรับในส่วนของประเทศไทยการที่น้ำปนเปื้อนรังสีจะเข้าสู่บริเวณอ่าวไทยมีความเป็นไปได้น้อยมากเนื่องจากลักษณะของอ่าวไทยเองและลักษณะการไหลเวียนของกระแสน้ำที่มีความซับซ้อนของประเทศญี่ป่น รวมถึงใช้ระยะเวลาหลายปีกว่าน้ำปนเปื้อนรังสีจะมาถึงพื้นที่ทางทะเลของภูมิภาคอาเซียนส่งผลให้ความเข้มข้นของสารกัมมันตรังสีเหล่านั้นลดลงเนื่องจากการเจือจางของน้ำทะเล ซึ่งตลอด 11 ปีที่ผ่านมา การดำเนินงานด้านการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อมทางทะเลของ ปส. และหน่วยงานพันธมิตรได้แสดงให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศไทยไม่ได้ผลกระทบจากการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีเมื่อปี 2011 และ ปส. จะยังดำเนินภารกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ส่วนความกังวลในเรื่องของฝุ่นกัมมันตรังสีที่อาจจะฟุ้งกระจายในอากาศหากเกิดความเสียหายขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจินั้น เบื้องต้นทราบมาว่า โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้หยุดการเดินเครื่องเรียบร้อยแล้ว และมีการนำแท่งเชื้อเพลิงออก รวมถึงได้สร้างโครงสร้างครอบโรงไฟฟ้าไว้ทั้งหมดแล้ว โอกาสที่จะเกิดการฟุ้งกระจายจึงแทบจะไม่มีเลย ส่วนโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ก็มีระบบด้านความปลอดภัยที่เข้มงวด แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยังจับตาและติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของระดับรังสีเพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทันท่วงทีต่อไป

แชร์