Thailand Web Stat Truehits.net
เครื่องหมายอัศเจรีย์

22 ปีชาวบ้าน ราชบุรี ต่อสู้โรงงานขยะพิษ กับชะตากรรมที่ไม่เคยพ้นทุกข์

21 พฤศจิกายน 2565

– ภาพของรถแบ็คโฮ ลักลอบกระทำกิจกรรมภายในโรงงาน แวกซ์ กาเบจ รีไซเคิลเซ็นเตอร์  ซึ่งอยู่ระหว่างการสั่งถูกห้ามทำกิจกรรมใด ๆ ในโรงงาน เพราะแพ้คดีที่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อชาวบ้าน ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี  ในระหว่างที่ทีมข่าวศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ได้ลงพื้นที่สำรวจความเดือดร้อนของชาวบ้านที่อยู่โดยรอบ  

– เดิมทีโรงงานแห่งนี้ มีชื่อว่า บริษัท นิ้วเจริญ รีไซเคิล เพ้นท์ จำกัด (ก่อตั้งเมื่อปี2543) ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ต.ค.43  ระบุว่าประกอบกิจการผลิตสีทาบ้าน น้ำมันทาแบบ อัดเศษกระดาษ อัดเม็ดพลาสติก ซ่อมถังน้ำมัน และถังอื่น ๆ 

– ต่อมาบริษัทนิ้วเจริญฯ ได้ขออนุญาตขยายโรงงานอีกหลายครั้ง ก่อนจะได้ยื่นขอรับอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน นำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานกลับมาใช้ใหม่ และฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เช่น กากอุตสาหกรรม และขยะชุมชน เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2545 

– ในปี พ.ศ.2546 บริษัทนิ้วเจริญฯ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิลเซ็นเตอร์” พร้อมระบุลักษณะธุรกิจว่า ให้บริการ ดำเนินการเกี่ยวกับการบำบัด และกำจัดวัสดุเหลือใช้ กากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลแบบครบวงจรรวมถึงการให้บริการฝังกลบกากของเสียประเภทไม่อันตราย

จุดเริ่มต้นความขัดแย้ง….

– ในเดือน พ.ค. 2544 หลังโรงงานของบริษัทนิ้วเจริญฯ เริ่มดำเนินกิจการมาได้เพียงประมาณ 1 ปี  ชาวตำบลน้ำพุ ได้ร้องเรียนไปยังกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ว่าได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นของสารเคมีและทินเนอร์  ทั้งความวิตกจากเศษขยะและสารเคมีจะไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะที่ใช้อยู่ จนนำมาสู่การลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานของบริษัทนิ้วเจริญฯ โดยกรมควบคุมมลพิษเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ก่อนจะลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาหลายครั้ง แต่ปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดไป ประชาชนจึงร่วมลงนามคัดค้านการขยายกิจการของบริษัทดังกล่าว รวมถึงรวมตัวกันชุมนุมประท้วง ท้ายที่สุดชาวบ้านจึงได้นำคดีฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) และศาลปกครอง 2560

– ปัญหาหลักที่ประชาชนร้องเรียน คือผลกระทบจากมลพิษกลิ่นเหม็น น้ำเสีย และการปนเปื้อนของสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม  ขณะเดียวกันก็มีการร้องเรียนจากประชาชนอย่างต่อเนื่องว่าโรงงานปล่อย “น้ำเสีย” ออกมาสู่ภายนอกจนปนเปื้อนแหล่งน้ำสาธารณะ โดยเฉพาะ “ห้วยน้ำพุ” ซึ่งตั้งอยู่ติดกับโรงงาน ที่มีการตรวจพบสารพิษปนเปื้อน จนมีการประกาศเตือนให้ “ระงับการใช้น้ำ” ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่  รวมถึงไม่สามารถนำน้ำไปใช้ในการทำเกษตรกรรมได้ดังเดิม 

–  วันที่ 11 เม.ย. 60 ตัวแทน ชาวบ้านและทนายความได้ยื่นคำฟ้องคดีต่อศาลแพ่งแผนกสิ่งแวดล้อม เพื่อเรียกร้องให้บริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้แก่ประชาชนทั้งชุมชนที่ได้รับผลกระทบ โดยแบ่งออกเป็น 1. ค่ารักษาพยาบาลจากอาการเจ็บป่วยจากการสูดดมกลิ่นเหม็นของสารเคมี  2. ค่าเสื่อมสุขภาพร่างกายอนามัย 3. ค่าชดเชยสำหรับผลผลิตและทรัพย์สินที่เสียหาย 4. ค่าขาดประโยชน์จากการใช้แหล่งน้ำธรรมชาติ 5. ค่าถูกละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม รวมเป็นเงิน 500 ล้านบาท  ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องเป็น “คดีแบบกลุ่ม” คดีแรกของประเทศไทย

– ต่อมาวันที่ 24 เม.ย. 60 ชาวบ้าน และนายศรีสุวรรณ จรรยา ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ได้แก่ อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับบริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ การฟื้นฟูสภาพความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนมาเป็นปกติ รวมถึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าชดเชยให้แก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้แหล่งน้ำ น้ำใต้ดิน การเจ็บป่วยทางสุขภาพร่างกายและจิตใจ และพืชผลการเกษตรเสียหายเป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี 

– 24 ธ.ค. 63 ศาลแพ่ง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาคดีกลุ่มด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างชาวบ้าน กับบริษัท แวกซ์ กาเบจฯ โดยพิพากษาให้บริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯและกรรมการบริษัท ร่วมกันรับผิดชอบค่าเสียหายด้านสุขภาพให้กับชาวบ้าน และค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม หลังจากต้องทนรับปัญหาด้านมลพิษจากโรงงานและต่อสู้มายาวนานกว่า 19 ปี

….เหตุการณ์ล่าสุด  หลังคำพิพากษาของศาล ปี 65…

– เดือน พ.ย. 65 แม้คำพิพากษาจะระบุให้ชาวบ้านชนะคดีและต้องได้รับค่าชดเชยเยียวยา แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา  โดยนายธนู งามยิ่งยวด หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ระบุว่า เงินเยียวยาที่ยังไม่ได้รับ ซ้ำยังต้องคอยระแวงกับสารเคมี และของเสียอันตรายที่ยังถูกจัดเก็บไว้ในโรงงาน  ไม่ได้มีการนำไปกำจัดให้ถูกต้อง อีกทั้งยังพบว่าบริษัทฯ ได้นำรถแบคโฮเข้ามาทำกิจกรรมบางอย่างในพื้นที่ ที่เคยถูกไฟไหม้เมื่อไม่นานมานี้ โดยเป็นบริเวณวางถังบรรจุกากของเสียอันตรายที่ถูกไฟไหม้อยู่ด้วยหลายร้อยถัง ทำให้ชาวบ้านต้องร้องเรียนต่อ นายอุดม เพชรคุต รองผู้ว่าราชการจังหวัด ราชบุรี ทันที เพราะเกรงว่าจะสร้างผลกระทบต่อชุมชนเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งนายอุดม ยืนยันว่าไม่สามารถทำได้

– วันที่ 17 พ.ย. 65 นายจำเนียน จินดาโชติ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.น้ำพุ ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับทางโรงงานเพิ่มเติมแล้ว รวมทั้งขอให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

– 21 พ.ย. 65 มีรายงานว่า ทางโรงงานได้ประสานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี แจ้งขอขนย้ายของเสียอันตรายส่วนหนึ่งออกไปกำจัดอย่างถูกต้อง โดย ทางโรงงานได้ขูดหน้าดินตรงบริเวณหน้าอาคารที่ถูกไฟไหม้ออกไปกำจัด ยังไม่รวมถังสารเคมี ซึ่งเป็นจุดที่ถูกชาวบ้านและสื่อมวลชนบันทึกภาพไว้ได้ว่ามีสารเคมีรั่วไหลส่งกลิ่นเหม็น มูลค่ากำจัดและค่าขนส่งเฉพาะจุดนี้เป็นเงินประมาณ 2.2 แสนบาท หากนับเฉพาะถังสารเคมีขนาดถังละ 200 ลิตร ที่อยู่ในโรงงานขณะนี้ เคยถูกประเมินว่ามีทั้งหมด6 หมื่นถัง คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 6 พันตัน ที่ค่ากำจัดที่ตันละประมาณ 3500 บาทคิดเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่ยังไม่ถูกส่งไปกำจัด และในโรงงานยังมีของเสียอันตรายที่เป็นของเหลวในแท็งก์อีกประมาณ 100 ตัน ยังไม่รวมบ่อน้ำขนาดใหญ่อีก 1 บ่อ และคาดว่าจะมีการฝังกลบของเสียอันตรายไว้ใต้ดินในบริเวณโรงงานอีกจำนวนมาก

….การต่อสู้ที่มีช่องว่างทางกฎหมาย…..

-จากเหตุการณ์นี้ นายชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านชนะคดีในรูปแบบการฟ้องคดีแบบกลุ่มในคดีด้านสิ่งแวดล้อมเป็นคดีแรกในประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า บทเรียนจากการต่อสู้คดีกับบริษัท แวกซ์ กาเบจทำให้เห็นช่องโหว่ทางกฎหมาย 2 ประเด็นใหญ่ ที่ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้จะชนะคดีแล้วก็ตาม

-ประเด็นแรก คือ หลักเกณฑ์การประเมินความเสียหายของผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งในข้อกฎหมายไปใช้หลักเกณฑ์ในการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์แบบเดียวกับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ซึ่งมองว่า ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับการชดเชยเยียวยาน้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมาก โดยยกตัวอย่างกรณีของผู้ฟ้องรายหนึ่ง คือ นายธนู ซึ่งเป็นเจ้าของสวนลำไยกว่า 100 ไร่ เคยทำกิจการลำไยส่งออกต่างประเทศด้วย แต่ไม่สามารถประกอบอาชีพต่อได้ เนื่องจากแหล่งน้ำในพื้นที่ถูกสารเคมีปนเปื้อนไปทั้งหมด จนต้องยุติอาชีพ และยังไม่รู้ว่าจะต้องรับผลกระทบต่อเนื่องไปอีกนานแค่ไหน จึงเรียกร้องค่าเสียหายไปประมาณ 16 ล้านบาท แต่ถูกตัดสินให้ได้รับค่าชดเชยเพียงประมาณ 6 แสนบาทเท่านั้น เพราะใช้หลักเกณฑ์พิจารณาความเสียหายตามเกณฑ์การชดเชยผลกระทบจาก “ภัยแล้ง” ทั้งที่เหตุภัยแล้ง เป็นภัยธรรมชาติ และสามารถฟื้นฟูได้ง่ายกว่ากันมาก ส่วนผลกระทบจากการปนเปื้อนสารเคมียังไม่มีแนวทางจะฟื้นฟูทั้งดินและแหล่งน้ำที่ชาวบ้านต้องใช้ทุกวันด้วยซ้ำ

ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ

-ประเด็นที่สอง ทนายชำนัญ กล่าวเชื่อมโยงต่อไปว่า แม้ชาวบ้านจะชนะคดี และได้รับคำตัดสินให้ได้รับเงินชดเชยเยียวยาเพียงเล็กน้อย แต่กลับยังไม่มีการจ่ายเงินจริงให้ชาวบ้าน ยังไม่รวมถึงค่าเสียหายที่จะต้องนำไปฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทั้งแหล่งน้ำ น้ำใต้ดิน ผืนดิน  รวมทั้งภาระที่รัฐอาจจะต้องนำเงินงบประมาณมาใช้เพื่อนำของเสียอันตรายในโรงงานไปกำจัดอย่างถูกต้องก่อน เพื่อลดผลกระทบต่อชาวบ้านที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพราะที่ผ่านมา เมื่อมีการตัดสินว่าโรงงานเหล่านี้เป็นผู้กระทำผิด ต้องแก้ไข ชดเชย เยียวยา โรงงานก็มักจะอ้างว่าไม่มีเงิน หรือบางแห่งก็แจ้งล้มละลายไปเลย ดังนั้น กฎหมายจึงควรสร้างกลไกในการ “ป้องกัน” ไว้ตั้งแต่แรก ด้วยการบังคับให้โรงงานที่มีความเสี่ยงจะสร้างความเสียหาย ต้องทำ “ประกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม”

แชร์