จากกระแสดราม่าของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปทะเล และพบป้าย “ห้ามนำและใช้ครีมกันแดด” ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่มีอันตรายต่อปะการัง เข้าไปในอุทยานแห่งชาติทางทะเล ติดตั้งไว้ที่ด้านหน้าอุทยานแห่งชาติทุกแห่ง สร้างความสงสัยให้นักท่องเที่ยวบางคนว่าเหตุใดจึงต้องห้าม?
ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ได้เคยนำเสนอเรื่องนี้ไปแล้วว่ากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีการออกประกาศ “ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมี 4 ชนิดที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ” ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท มีผลบังคับใช้วันแรก 4 ส.ค. 64 และเริ่มมีการติดป้ายห้ามไว้ตามอุทยานแห่งชาติทางทะเล ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งประเทศไทยเป็นอีกในหลายประเทศที่เริ่มมีการประกาศใช้กฎหมายแบบจริงจัง
“ปาเลา” ประเทศแรกของโลก ที่ออกกฎหมายแบนครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายเมื่อเดือนมกราคม 2563 ขณะที่รัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกา หมู่เกาะแคริบเบียนและโบแนร์ของเนเธอร์แลนด์ รวมถึงหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา ประกาศบังคับใช้กฎหมายเมื่อเดือนมีนาคม 2564

……. สำหรับเหตุผลที่ทำให้หลายประเทศเริ่มออกกฎหมายดังกล่าวในช่วง 2-3 ปีเนื่องจากงานวิจัยจากต่างประเทศ พบสารเคมีในครีมกันแดดมีส่วนทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรมลง ตั้งแต่ปลายปี 2014 จนถึงช่วงกลางปี 2016 สร้างความเสียหายให้กับปะการังทั่วโลก โดยนักวิจัยประมาณการว่าทุกปีมีครีมกันแดดมากถึง14,000 ตัน ที่นักท่องเที่ยวใช้ ถูกชะล้างลงสู่แนวปะการังในทะเล นอกจากนี้ยังมีครีมและเครื่องสำอางเป็นจำนวนมากปนเปื้อนออกมากับท่อระบายน้ำหลังจากการชำระล้างร่างกาย คาดกันว่าอาจมีปะการังมากถึง 1 ใน10 ของโลกที่กำลังถูกคุกคามด้วยสารเคมีเหล่านี้ เพราะแนวปะการังส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลสำคัญที่มีกิจกรรมของมนุษย์

สารเคมี 4 ชนิดที่นักวิจัยพบว่าฆ่าปะการังและทำให้ปะการังฟอกขาว คือOxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) ,Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate), 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben ตัวสุดท้ายเป็นวัตถุกันเสียที่ทำให้ปะการังฟอกขาว ตัวที่ร้ายที่สุดคงจะเป็นOxybenzone หรือ BP3 เพราะรบกวนระบบสืบพันธุ์ ทำให้ตัวอ่อนปะการังโตแบบผิดรูป หรือไม่ก็พิการและตาย นอกจากนี้ Oxybezone ยังเป็นส่วนผสมที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดกว่า 3,500 ยี่ห้อทั่วโลก
บางคนอาจบอกว่าทะเลตั้งกว้างใหญ่ครีมกันแดดแค่นิดหน่อยจากนักท่องเที่ยวไม่น่าจะสร้างปัญหาได้ แต่สิ่งที่งานวิจัยค้นพบก็คือ สารเคมีแม้ปริมาณเพียงน้อยนิด แค่ 1 หยดต่อสระน้ำมาตรฐาน 6 สระ เท่ากับส่งผลกระทบต่อปะการังแล้ว และยังพบว่าตามแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในปัจจุบันพบความเข้มข้นของสารเคมีสูงกว่าระดับปลอดภัยไปมาก และกำลังส่งผลร้ายแรงต่อแนวปะการังในระยะยาว

ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลและรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้คำแนะนำกรณีดังกล่าวว่า นักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์จะเดินทางไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเล สามารถเลือกซื้อครีมกันแดด ที่ไม่มีส่วนผสมของ 4 สารอันตราย “Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3), Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate), 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben” ได้ตามท้องตลาด โดยสามารถเลือกจากข้อมูลที่ปรากฎบนผลิตภัณฑ์ ซึ่งมักจะเขียนกำกับไว้เช่น Reef Save, Savemarine และ Seasafe เป็นต้น
ผศ.ดร.ธรณ์ มองว่า ผลกระทบอาจยังไม่เกิดในทันที และอาจต้องใช้เวลานาน แต่หากไม่มีการออกข้อบังคับ ก็จะส่งผลกับระบบนิเวศทางทะเลในระยะยาว ต้องยอมรับว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว หรือ ปะการังตาย มีอยู่หลายปัจจัย และการใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมี ทั้ง 4 ตัว ก็นับเป็น 1 ในสิ่งกระตุ้น เมื่อสารเคมีดังกล่าวถูกชะล้าง จะจมลงสู่แนวปะการัง ทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง และฆ่าตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์ อีกทั้งยังทำให้เกิดปะการังฟอกขาวด้วย แต่จะเป็นสาเหตุหลักหรือไม่ เบื้องต้นไม่สามารถตรวจสอบได้ชัดเจน ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และจำนวนนักท่องเที่ยว หากหาดมีบริเวณแคบ และมีนักท่องเที่ยวทาครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีจำนวนมาก อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดผลกระทบเร็ว แต่หาก บริเวณของหาดกว้าง และมีนักท่องเที่ยวน้อยผลกระทบก็อาจจะยังไม่มากนักในระยะสั้น
