รายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกขององค์การสหประชาชาติฉบับล่าสุด ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก พร้อมให้แนวทางถึงวิธีการที่จะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ด้วยเช่นกัน
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์สังคม ระบุว่า ณ เวลานี้มนุษยชาติยังสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบและหายนะที่ร้ายแรงที่สุดที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ แต่จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อผู้คนในสังคมเริ่มลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างทันที
ภารกิจที่จะต้องทำ ตามที่ระบุไว้ในรายงานที่จัดทำโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC นับว่าไม่ง่ายและท้าทายอย่างมาก เพราะโลกต้องตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปีลงเกือบครึ่งหนึ่งตลอดช่วง 8 ปีต่อจากนี้ และหาวิธีที่จะลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้อย่างสิ้นเชิงภายในช่วงกลางศตวรรษ อย่างไรก็ดีทาง IPCC ยังได้ระบุถึงกลยุทธ์นับร้อยวิธีที่จะช่วยให้มนุษย์ประสบความสำเร็จในเป้าหมายเหล่านี้ได้ และถึงแม้ว่ารายงานฉบับนี้จะระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการแก้ไขปัญหา ภาวะโลกรวน ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ว่าประเทศต่างๆ รวมถึงภาคธุรกิจ สังคม และประชากรโลกแต่ละคน ต่างสามารถร่วมมีบทบาทในการร่วมกันสร้างอนาคตที่ปลอดภัยและยั่งยืนยิ่งขึ้นได้
ต่อจากนี้คือ 6 วิธีที่สำคัญในการแก้ไขปัญหา ภาวะโลกรวน ท่ามกลางรายงานที่มีความยาวรวมหลายต่อหลายพันหน้า

1 เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน
การผลิตพลังงานและความร้อนถือเป็นส่วนสำคัญของการสร้างมลภาวะที่ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น หรือประมาณ 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโลกทั้งหมด ซึ่งทำให้ภาคส่วนนี้กลายเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ การจะจำกัดให้โลกร้อนขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะต้องตัดลดการปล่อยพลังงานลงระหว่าง 38-52% ภายในอีก 8 ปีข้างหน้า
IPCC ระบุว่าในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานทดแทน ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ราคาลดลงในหลายพื้นที่ จนถูกกว่าพลังงานผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แหล่งพลังงานทางเลือกขนาดเล็ก อย่างเช่นแผงโซลาร์เซลล์ที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า ยังสามารถช่วยให้ชุมชนต่างๆ ที่เคยไม่มีไฟฟ้าใช้มาก่อนสามารถเข้าถึงระบบไฟฟ้าได้อีกด้วย
นอกจากนี้ IPCC ยังระบุว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ สามารถใช้มาตรการเชิงนโยบายอย่างเช่นการเก็บภาษีการปล่อยคาร์บอน หรือให้มาตรการจูงใจทางการเงินแก่ผู้ที่ติดตั้งระบบพลังงานทดแทน หรือเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานทดแทน เพื่อผลักดันการหันไปพึ่งพาแหล่งพลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งการลงทุนในระบบการประหยัดพลังงานจะช่วยลดความต้องการพลังงานในภาพรวมได้เช่นกัน
ผู้เขียนรายงานระบุว่า “แนวคิดพื้นฐานของความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือระบบพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำจะใช้พลังงานฟอสซิลน้อยลงกว่าปัจจุบันเป็นอย่างมาก”

2 เปลี่ยนแปลงอาคารให้ประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น
รายงานของ IPCC ชี้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาคารต่างๆ คิดเป็นสัดส่วนราว 21% ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในปี 2019 ตัวเลขนี้ยังหมายรวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้พลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้าและความร้อน เช่นเดียวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้เหล็กกล้าและซีเมนต์ด้วย
การจะทำให้อาคารต่างๆ ในโลกปราศจากคาร์บอนไม่ใช่เรื่องง่ายหรือทำได้อย่างรวดเร็ว แต่ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงให้อาคารต่างๆ ประหยัดพลังงานมากขึ้นและคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศของโลกมากขึ้นจะมีผลอย่างยิ่งในการช่วยให้โลกสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ วิธีการที่ทำได้มีทั้งการปรับปรุงฉนวนอาคาร เลือกใช้ระบบทำความร้อนและความเย็นที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น ใช้พลังงานทดแทนเป็นทางเลือกในอาคารมากขึ้น รวมถึงหันไปใช้วัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งการใช้นโยบายสาธารณะเหล่านี้ รวมถึงมาตรการจูงใจทางการเงินจะช่วยผลักดันแนวทางเหล่านี้ให้เป็นไปได้เร็วยิ่งขึ้น

3 เปลี่ยนสู่เมืองสะอาดสีเขียว
เมืองต่างๆ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการประมาณการว่าพื้นที่ในเมืองจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าภายในปี 2550 ซึ่งหากการขยายแหล่งที่อยู่อาศัยเหล่านี้เกิดขึ้นโดยการใช้วัสดุก่อสร้างและเทคโนโลยีแบบดั้งเดิม เช่น คอนกรีตที่เต็มไปด้วยคาร์บอน และยังใช้ระบบการขนส่งที่ใช้รถเป็นหลัก จะนับเป็นการคงไว้ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสืบต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน
แต่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการ “มุ่งเป้ากำจัดคาร์บอนให้เป็น 0 และการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ” จะสร้างเมืองให้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงเชิงพลังงานได้
การวางผังเมืองง่ายๆ อย่างเช่นการเพิ่มความหนาแน่นในเขตเมือง โดยการผสมผสานแหล่งที่อยู่อาศัยเข้ากับพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้คนสามารถอยู่อาศัยในบริเวณที่พวกเขาทำงานได้ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตามเส้นทางคมนาคมสายหลัก ต่างก็จะช่วยตัดลดการปล่อยคาร์บอนในเขตเมืองลงได้ประมาณ 1 ใน 4 ภายในปี 2050 นอกจากนี้การใช้วัสดุรีไซเคิลในการก่อสร้างและการทำความร้อนในอาคารโดยใช้ไฟฟ้าแทนก๊าซจะยิ่งช่วยตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อีก ซึ่งการลงทุนในพื้นที่สีเขียวสามารถช่วยให้เมืองรอดพ้นจากคลื่นความร้อนและอุทกภัยที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นได้ พร้อมกับที่สามารถช่วยลดคาร์บอนในอากาศได้ด้วย
เมืองที่เป็นรูปเป็นร่างอยู่แล้วสามารถตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุดผ่านการปรับปรุงอาคารต่างๆ โดยสร้างสิ่งก่อสร้างเพิ่มเพื่อให้แหล่งที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากขึ้น และเปลี่ยนไปใช้ระบบพลังงานที่ปล่อยมลภาวะน้อยลงกว่าเดิม แต่ความหวังของการแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างแท้จริงขึ้นอยู่กับเมืองที่กำลังเติบโตและเมืองใหม่ๆ มากกว่า ซึ่งรายงานของ IPCC ระบุไว้ว่าเมืองใหม่ๆ จะมี “ศักยภาพที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำหรือเป็นศูนย์ได้ พร้อมทั้งยังทำให้ผู้อาศัยมีคุณภาพชีวิตดีได้ในเวลาเดียวกัน”

4 หันหายานพาหนะไฟฟ้าและพึ่งพาการเดินหรือใช้จักรยาน
การบิน การใช้รถ และขนส่งสินค้าของประชากรโลกเป็นส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ภาคการคมนาคมคือแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนนี้จะต้องลดลงอย่างมากในช่วงหลายทศวรรษต่อจากนี้เพื่อให้โลกมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศได้สำเร็จตามคาดหวัง
หนึ่งในวิธีการมุ่งหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าวคือการเพิ่มการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าและหันไปพึ่งพาพลังงานไฮโดรเจนกับพลังงานชีวภาพสำหรับการบินและการขนส่งให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวัฒนธรรม เช่น การหันไปทำงานระยะไกลมากขึ้น หรือการวางผังเมืองที่จะช่วยให้ผู้คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือใช้การเดินและปั่นจักรยานไปสู่จุดหมายปลายทางได้มากยิ่งขึ้น การใช้เทคโนโลยีและการวางแผนระบบคมนาคมอย่างชาญฉลาดเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถก้าวข้ามความต้องการใช้ระบบขนส่งที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นหลักได้ โดยจะมีผลพลอยได้อีกประการนอกเหนือจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นั่นคือคุณภาพอากาศที่ดียิ่งขึ้น

5 ส่งคาร์บอนกลับสู่ผืนดิน
การใช้ผืนดินเพื่อทำกินของมนุษย์เป็นหัวใจสำคัญของแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น โดยคิดเป็นสัดส่วน 13-21% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษยชาติ ซึ่งปริมาณในแต่ละปีจะแตกต่างกันออกไป แต่ผืนดินเหล่านี้สามารถกลายเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ด้วยการช่วยดึงเอาคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศหากมนุษย์เรียนรู้ที่จะใช้มันอย่างถูกต้อง
รายงานของ IPCC ระบุว่าสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เราจะปรับปรุงได้คือวิธีทำการเกษตร วิธีการมาตรฐานอย่างเช่นการพรวนดินหรือการใช้ปุ๋ยจำนวนมากจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลายตันและจุลชีพในระบบทางเดินอาหารของแพะกับปศุสัตว์ต่างๆ ถือเป็นแหล่งสำคัญของก๊าซมีเทนที่เป็นตัวปัญหา ซึ่งการทำการเกษตรแนวใหม่เพื่อฟื้นฟูที่ดินจะช่วยกักเก็บคาร์บอนไว้ในดิน ลดการใช้ปุ๋ย และลดจำนวนเนื้อสัตว์ที่เราบริโภคลง ซึ่งจะทำให้มนุษย์เราสามารถเปลี่ยนที่ดินทำกินจากแหล่งปล่อยคาร์บอนให้กลายเป็นสถานที่กำจัดคาร์บอนได้
การปกป้องธรรมชาติโดยเฉพาะป่าและระบบนิเวศที่เต็มไปด้วยคาร์บอนอื่นๆ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อการชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ป่าที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับการฟื้นฟู และทุ่งหญ้าแพรรีที่ไม่ถูกรบกวน ต่างจะช่วยดึงเอาคาร์บอนหลายพันล้านตันออกจากชั้นบรรยากาศได้ในแต่ละปี ตามข้อมูลรายงานของ IPCC หรือใกล้เคียงกับการทำงานของกังหันลมถึงเกือบ 2 ล้านอัน นอกจากนี้การฟื้นฟูระบบนิเวศจะช่วยปกป้องสัตว์ป่า ป้องกันเราจากความร้อนและน้ำท่วม ช่วยฟอกอากาศและน้ำ รวมถึงช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตของมนุษย์ด้วย

6 ลงทุนในโลกที่เท่าเทียมมากขึ้น
รายงานของ IPCC ระบุชัดเจนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือผู้ที่มีส่วนก่อให้เกิดปัญหานี้น้อยที่สุด และมีทรัพยากรในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวน้อยที่สุดเช่นกัน ซึ่งกลุ่มประเทศด้อยพัฒนามีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.4% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วปล่อยคาร์บอนมากถึง 27% ของทั้งโลก
นับตั้งแต่เริ่มยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ประเทศร่ำรวยต่างผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรของตนด้วยการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่หากโลกต้องการหลีกเลี่ยงมหันตภัยโลกร้อน ประเทศร่ำรวยเหล่านี้จะต้องช่วยประเทศที่ยากจนกว่าในการเติบโตด้วยการใช้พลังงานสะอาดและการพัฒนาอย่างยั่งยืน แทนการใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ
รายงานของ IPCC พบว่าสิ่งเหล่านี้ต้องการเงินสนับสนุนเพิ่มขึ้น 3-6 เท่าตัวเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พื้นที่เปราะบางต่างๆ ยิ่งจะต้องการการสนับสนุนมากขึ้นระหว่างการปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือผลจากภาวะโลกร้อนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่กระทั่งถึงตอนนี้ ประเทศร่ำรวยยังไม่ปฏิบัติตามคำมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา
โลกของเราจะต้องแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียบควบคู่ไปกับการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะสิ่งนี้จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือได้ และหากทำอย่างถูกต้อง ความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตามชุมชนในชนบท การจัดหาจักรยานยนต์ไฟฟ้าแก่คนเมืองที่มีรายได้น้อย และการฟื้นฟูหน่วยงานจัดการที่ดินสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่นต่างๆ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้อีกมาก
“การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถช่วยยุติความยากจนและหิวโหยได้” Patricia Romero Lankao นักสังคมวิทยาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าว “หากกระทำอย่างยุติธรรมและยึดหลักความเท่าเทียม”
ที่มา https://www.washingtonpost.com/climate-solutions/2022/04/04/ipcc-climate-change-solutions/