ในปี ค.ศ. 1990 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้จัดทำรายงานที่มีข้อสรุปยืนยันว่ากิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจริง ประกอบกับในปีนั้นได้มีการจัดการประชุม Second World Climate Conference ขึ้น จึงทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของ นานาประเทศ
จุดเริ่มต้นดังกล่าว ทำให้เกิดการประชุมระดับนานาชาติขึ้นเพื่อหาแนวทาง ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ มนุษย์โดยได้มีการลงนามรับรองอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ(United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) หรืออนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1992 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาติ นครนิวยอร์ค ต่อมาประเทศต่างๆ ทั่วโลก จำนวนมากกว่า 150 ประเทศ ได้ลงนามให้สัตยาบัน ในระหว่างการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment and Development: UNCED) หรือการประชุมสุดยอดโลก (Earth Summit) เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1992

การประชุม COP หรือ การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ อากาศ จัดขึ้นโดย UNFCCC เพื่อบรรลุข้อตกลงและหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นจาก วิกฤตโลกร้อน ในทางปฏิบัติหมายความว่าเป็นการเจรจาตกลงเพื่อให้นานา ประเทศเห็นพ้องต้องกันในการกำหนดเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของ อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส (ภายหลังกำหนดให้อยู่ที่ระดับไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส) เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันภัยพิบัติร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ โดยการประชุม COP ครั้งแรก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มี.ค.-7 เม.ย. ปี 1995 ที่ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ก่อนที่จะยกระดับความสำคัญ ผ่านความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่เกิดขึ้นจากการประชุม COP ครั้งที่ 21 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 ถือเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ฉบับล่าสุด ซึ่งเป็นส่วนขยายและเพิ่มเติม (Supplementary Agreement) ต่อจาก พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol–KP) ปี พ.ศ. 2540 เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากพิธีสารเกียวโตนั้นมีข้อจำกัดไม่สามารถแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเต็มที่ เพราะประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีของพิธีสารฯ ดังกล่าว โดยภายใต้ข้อตกลงปารีส ภาคีสมาชิก 197 ประเทศต่างให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อคงอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม หรือเทียบเท่าช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และมุ่งไปสู่เป้าหมายใหญ่คือ จำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

สิ่งที่หลายประเทศให้ความสนใจและมีการตั้งเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน คือ นโยบายเกี่ยวกับ”carbon neutrality” และ “net zero emissions”
“Carbon neutrality” หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น เช่น ประเทศร่ำรวยอาจไปซื้อคาร์บอนส่วนเกินมาจากประเทศที่ยากจนที่ไม่ได้ปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตของตลาดค้าคาร์บอน
“Net zero emissions“ หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือ การปรับกระบวนการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ โดยไม่ได้อาศัยวิธีการอื่นทดแทนตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตทั้งต้นน้ำปลายน้ำ จึงเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทายกว่าความเป็นกลางทางคาร์บอน

คาร์บอนเครดิต หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการที่บุคคลหรือองค์กรได้ดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้สามารถวัดปริมาณและสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ หากจะให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ก๊าซต่างๆ ที่ทำให้ปฏิกิริยาเรือนกระจก (จำนวนคาร์บอน) ที่แต่ละองค์กรสามารถลดได้ต่อปี และหากปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์จะถูกตีราคาเป็นเงิน ก่อนจะถูกขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่นได้ตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต ที่ได้กำหนดกลไกต่างๆ ให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หนึ่งในกลไกคือ การซื้อขายมลพิษ หรือ คาร์บอนเครดิต กับประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถลดก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกลงตามที่กำหนดไว้ได้ สำหรับประเทศไทย ได้เข้าร่วมให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 โดยอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ถูกบังคับให้มีพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่สามารถร่วมดำเนินโครงการได้ในฐานะผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินโครงการ
ตลาดคาร์บอนเครดิต เป็นตัวกลางที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม โดยการนำสินค้าที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตมาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยน ที่ทำให้เครื่องมือทางการตลาด (Market Mechanism) สำหรับการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมสามารถบรรลุผลได้จริง กล่าวคือ การจัดตั้งและดำเนินการตลาดคาร์บอนเครดิต ส่งผลทำให้มีการกำหนดราคาสินค้าบนพื้นฐานของการคำนึงถึงปริมาณการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการตระหนักและให้ความสำคัญกับต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประชาชนควรแบกต้นทุนเหล่านี้ด้วย ท้ายที่สุดแล้วตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นจุดนัดพบระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ลงทุนหรือบุคคลอื่นๆ ที่มีเป้าหมายตรงกันด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม มีมุมมองจากนักวิชาการเกี่ยวกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ว่า อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย และ ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และในฐานะนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม มองว่า การตั้งเป้าหมายและแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของแต่ละประเทศ ยังมีความไม่ชัดเจน และยังเชื่อว่า แม้ทุกประเทศจะสามารถดำเนินการตามเป้าหมายที่ได้ประกาศไว้ ก็อาจทำให้อุณหภูมิโลกยังพุ่งสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีสเนื่องจากการจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควรมุ่งเน้นการปรับกระบวนการเพื่อลดการปล่อยก๊าซมากกว่าการจะหา วิธีอื่น อย่างการปลูกป่า หรือ ซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพราะแม้จะปลูกป่าทั้งโลก ป่าก็ไม่สามารถจะดูดซับก๊าซได้ทั้งหมด และการไม่หาแนวทางทดแทนแต่จะใช้วิธีหักลบผ่านกลไกคาร์บอนเครดิต ก็แทบไม่ลดจำนวนก๊าซที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นหากอยากแก้ปัญหาจริง นักวิชาการมองว่า ทุกประเทศควรหันมาใช้วิธีลดการใช้พลังงานฟอสซิล และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทน
ข้อมูลเพิ่มเติม
– ความตกลงปารีส (Paris Agreement) : เป้าหมายหลักที่นานาชาติได้ตกลงกันไว้เมื่อปี 2015 คือ การคงอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม หรือเทียบเท่าช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และมุ่งไปสู่เป้าหมายใหญ่คือ จำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
– 1.5 องศาเซลเซียส : ตัวเลขอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยที่ต้องควบคุมไม่ให้เกินระดับนี้ เพราะนักวิชาการมองว่าหาไม่สามารถควบคุมได้ อาจทำให้โลกได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change
– พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) : การประชุม COP 3 ณ นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นได้มีการยกร่างพิธีสารเกียวโตขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมค.ศ. 1997 มีพันธะผูกมัดตามกฎหมายในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นับเป็นเครื่องมือหลักที่รัฐบาลทั่วโลกต้องใช้เพื่อจัดการกับภาวะโลกร้อน สำหรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ซึ่งแต่ละประเทศต้องมีพันธะต่อเป้าหมายของตัวเอง ขึ้นกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีต นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงกลไกของตลาดคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับการค้าเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในส่วนของประเทศไทยได้ลงนามรับรองพิธีสารเกียวโตเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1999 และได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2002 ในฐานะภาคีสมาชิกในกลุ่มประเทศกําลังพัฒนา จึงไม่มีพันธกรณีใดๆ ภายใต้พิธีสารเกียวโต ยกเว้นมาตรา 10 ซึ่งกําหนดให้ทุกภาคีร่วมรับผิดชอบดําเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามขีดความสามารถและสถานการณ์ของแต่ละประเทศด้วยความสมัครใจ และมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด แต่ไม่มีพันธกรณีที่จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ขอบคุณภาพประกอบ : https://www.greenpeace.org/thailand/explore/protect/climate/cop26/