สิ้นสุดลงแล้วสำหรับการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties) ครั้งที่ 27 หรือ COP 27 ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ ตั้งแต่วันที่ 6 – 18 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งประเด็นสำคัญที่มีข้อสรุปเป็นรูปธรรมในการประชุมครั้งนี้ คือ ที่ประชุมมีมติตกลงร่วมกันจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกรวน (Loss and Damage fund) หลังมีเสียงเรียกร้องมานานหลายทศวรรษ
โดยให้เหตุผลว่า “ภาวะโลกรวน” (Climate Change) เป็นปัญหาที่จะยิ่งซ้ำเติมช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน เพราะประเทศร่ำรวยได้รับประโยชน์จากภาคพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นตัวเร่งก่อให้เกิดภาวะโลกรวน แต่ประเทศยากจนต้องแบกรับผลกระทบมหาศาลจากมลพิษที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยที่ไม่ได้รับประโยชน์ เช่น ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ภัยแล้ง นำไปสู่วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร
แต่ในส่วนของรายละเอียดการจัดตั้งกองทุนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการตกลงเกณฑ์ ทั้งในส่วนที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในกองทุน และรายละเอียดการจัดสรรให้กับกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนนี้คาดว่าจะมีการหารือรายละเอียดอีกครั้งในการประชุม COP28 ครั้งหน้า ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

….มุมมองของความล้มเหลวในการประชุม…
ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา วิเคราะห์บทสรุปที่เกิดขึ้นว่า ยังมีความล้มเหลวบนเวที COP 27 โดยแบ่งออกเป็น 2 มิติ มิติแรกคือ ความคาดหวังว่าจะเห็นทุกประเทศมีมาตรการชัดเจน และเอาจริงเอาจังในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม
แต่การประชุมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ไม่ปรากฎคำมั่นสัญญาที่ชัดเจน หรือ แผนการกำหนดเป้าหมาย ที่ทุกประเทศบ่งบอกว่าต้องการจะบรรลุ เพื่อควบคุมอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในระดับที่จะไม่ส่งผลกระทบทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจากการประเมินทางวิชาการ ด้วยการนำข้อมูลแผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทุกประเทศมาคำนวณ พบว่า หากทุกประเทศยังใช้แผนเดิมโดยไม่มีการปรับปรุง ก็มีแนวโน้มที่อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น แตะระดับ 2.6 – 2.9 องศาเซลเซียส นับเป็นความน่าเสียดายเพราะแม้จะมีการจัดเวทีประชุมขนาดใหญ่แต่กลับไม่มีความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าว

ส่วนกรณีการใช้ตลาดคาร์บอนมาเป็นเครื่องมือในการบริหารก๊าซเรือนกระจก ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะส่วนตัวมองว่าหากประเทศพัฒนาหรือกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลไม่มีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง แต่อาศัยช่องทางอื่น เช่น อ้างแนวทางการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อดูดซับคาร์บอน ก็อาจกระทบกับชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ในระบบนิเวศ ชนพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์เดิมที่อาศัยในพื้นที่ธรรมชาติ ก็อาจเกิดผลกระทบกับวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ จนเกิดเป็นข้อพิพาทระหว่างพื้นที่และกลายเป็นช่องว่างซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำของคนชายขอบ
อีกมิติคือการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกรวน (Loss and Damage fund) แม้ว่าที่ประชุมจะมีมติรับหลักการเห็นชอบให้ก่อตั้งกองทุนดังกล่าว แต่รายละเอียดก็ยังคลุมเครือเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับประเด็นนี้ มีสิ่งที่ต้องทบทวนบทเรียนคือ ที่ผ่านมาประเทศพัฒนาแล้ว เคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยประเทศกำลังพัฒนาผ่านงบประมาณเพื่อให้สามารถปรับตัวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในความจริงพบว่า มูลค่างบประมาณที่ลงมาสนับสนุน ยังห่างไกลจากงบที่ตั้งเป้าไว้ และหากมีการจัดตั้งกองทุนใหม่ขึ้น คำถามคือ จะสามารถระดมทุนได้มากน้อยแค่ไหน อีกทั้งใครจะเป็นผู้จัดสรรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่กลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจริง โดยไม่ถูกนำเข้าไปยังกระเป๋าของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

“ปัญหาสำคัญที่ทำให้การประชุม COP27 ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากไม่มีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมมีแต่ตัวแทนจากภาคราชการและธุรกิจซึ่งการไม่มีส่วนร่วมหรือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ขาดเป้าหมายและเจตนารมณ์ในการเอาจริงเอาจังเพื่อกำหนดนโยบายต่างๆ”
ดร.กฤษฎา กล่าวย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลกที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันก็ยังไม่มีการทำแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนและจริงจัง เพราะยังมีการเอาตัวเลขที่คาดการณ์ไว้สูงเกินไปมาคำนวณ จึงมองว่า ไทยควรลดการปล่อย โดยตั้งเป้าหมายจากปริมาณการปล่อยเดิม และหาแนวทางการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้แทนพลังงานฟอสซิลเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ส่วนการให้ความสำคัญกับกองทุนช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกรวน (Loss and Damage fund) ก็พบว่าไทยเองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก เพราะการจะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบไม่ควรเป็นไปในรูปแบบการฟื้นฟูเยียวยาเมื่อเกิดภัยพิบัติเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องรวมไปถึงกระบวนการช่วยให้ประชาชนสามารถตั้งรับปรับตัวกับสถานการณ์หรือสภาวะที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงได้ ทั้ง วิกฤตน้ำท่วม ภัยแล้ง การกัดเซาะชายฝั่ง ความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งส่วนนี้ ต้องอาศัยทั้งงบประมาณ ความรู้ และการกระจายอำนาจ
เมื่อไม่มีแผนชัดเจน จึงไม่สามารถออกแบบโครงการเพื่อนำไปเสนอของบประมาณจากกองทุนดังกล่าวได้ และหากรัฐบาลมีความเอาจริงเอาจัง ส่วนตัวมองว่า ไทยอาจเริ่มจากการเก็บภาษีคาร์บอนกับกลุ่มธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงในประเทศ เพื่อนำเงินดังกล่าวมาจัดตั้งกองทุนที่ขับเคลื่อนโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สำหรับบริหารเงินทุนนั้นให้แก้ปัญหาและเข้าถึงกลุ่มเปราะบางหรือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติโดยตรง

…มุมมองของกรีนพีซ ต่อการประชุม….
สอดคล้องกับมุมมองของ น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มองว่าภาพรวม การประชุมยังขาดความเข้มข้นทั้งเรื่องแผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นรูปธรรม และการกำหนดแนวทางบริหารกองทุนช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกรวน (Loss and Damage fund) ว่าจะนำเงินจากกลุ่มใดหรือประเทศใดมาใช้ในกองทุน และจะเกิดความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศได้มากแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มประเทศเปราะบางที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ส่วนแผนของประเทศไทยเองก็เป็นที่น่าสนใจ เพราะเมื่อมีการพูดถึงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มักจะไม่มีการพูดถึงต้นตอหรือปลายทางของวงจรการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในเชิงนโยบายและการลงทุน เช่น หากพูดถึงการพยายามลดก๊าซเรือนกระจกในภาคคมนาคม ทุกคนจะพุ่งเป้าไปที่การพยายามปรับเปลี่ยนให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่สิ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงหรือสร้างการถกเถียงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน คือ รถยนต์ไฟฟ้าใช้พลังงานไฟฟ้า แต่หากพลังงานไฟฟ้ามาจากพลังงานฟอสซิล แล้วเรา จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร? ….ขณะที่โครงการภายใต้ความร่วมมือขององค์กรวิจัยนานาชาติ เพื่อการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Action Tracker จัดอันดับให้ไทยอยู่ในสถานะยอดแย่ในการจัดการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อีกประเด็น คือ กองทุนช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกรวน (Loss and Damage fund) ก็พบว่าไทยเองมีสิ่งที่ต้องโฟกัสคือการนำเงินจากกองทุนฯ มาใช้ใน 2 ด้าน ด้านแรกคือการนำเงินสนับสนุนมาใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านจากเดิมที่มีการใช้พลังงานฟอสซิลหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทน เพราะเท่าที่ติดตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ยังมีการเพิ่มขึ้นของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อีกด้านคือการยกระดับแผนการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะโลกรวน ให้ประชาชนสามารถเอาตัวรอดได้เมื่อเจอกับภัยพิบัติ
