เครื่องหมายอัศเจรีย์

ประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ LIRLAP ครั้งที่ 2

หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat University Research Unit in Urban Futures and Policy) โดย รศ.ดร. วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง ร่วมกับมหาวิทยาลัยพันธมิตรจากประเทศเยอรมนี ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติในหัวข้อ “Stakeholder workshop on Linking Disaster Risk Governance and Land-use Planning : The Case of Informal Settlements in Hazard Prone Areas in the Philippines, Thailand and Vietnam ( LIRLAP ) ครั้งที่ 2” เมื่อวันที่ 22-24 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการฯ ในหัวข้อ “การวิเคราะห์และเชื่อมโยงการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อรองรับภัยพิบัติและการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย” สู่การเป็นเมืองที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย อีกทั้งเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างการมีส่วนร่วมและความร่วมมือระหว่างสถาบันศึกษาระหว่างประเทศไทย เยอรมนี ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยเพื่อให้สามารถรองรับสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตได้

พิธีเปิดการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณธนัช นฤพรพงศ์ รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) และ ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้อำนวยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โดยกล่าวสรุปการดำเนินงานของหน่วยงานในปัจจุบัน ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงแนวทางและการส่งเสริมการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนร่วมกัน

พร้อมกันนี้ หน่วยวิจัยฯและทีมจากประเทศเยอรมนี พร้อมรองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และทีมสถาปนิก วิศวกร ร่วมกันลงสำรวจพื้นที่ใน 4 ชุมชนได้แก่ 

1) ชุมชนหลักสี่ 99 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 

2) ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 

3) ชุมชนชายคลองบางบัว แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ และ 

4) ชุมชนปทุมธานีโมเดล คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 

เพื่อศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองรวมถึงเยี่ยมชมพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานภายใต้โครงการบ้านมั่นคงและโครงการบ้านพอเพียง ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

ข้อมูลจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนระบุว่า ปัจจุบันในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีชุมชนรายได้น้อยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจำนวน 98 ชุมชน (เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงแล้ว 87 ชุมชน อีก 11 ชุมชนยังไม่ได้เข้าร่วม) บ้านในชุมชนที่อยู่ในเขตเสี่ยงน้ำท่วมมีจำนวน 10,825 หลัง และมีประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจำนวนรวม 36,841 คน ซึ่งในอนาคตอาจมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

การสำรวจภาคสนามครั้งนี้ ทีมวิจัยนานาชาติได้เห็นความแตกต่างระหว่างสภาพบ้านเรือนชุมชนดั้งเดิม ชุมชนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และชุมชนที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงแล้ว ประเด็นสำคัญจากการศึกษาดูงานและประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดกลยุทธ์ และร่วมมือระหว่างหน่วยงาน อาทิ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ได้นำเทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจและภูมิสารสนเทศมาใช้ในการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงในพื้นที่ พร้อมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ที่ใช้กลไกการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงเมือง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของทางกรุงเทพมหานครที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพการระบายและบำบัดน้ำเสีย และหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมืองพร้อมด้วยมหาวิทยาลัยพันธมิตรจากประเทศเยอรมนีจะรวบรวมข้อมูลและร่วมกระบวนการวิจัยร่วมกันเพื่อเปรียบเทียบกรณีศึกษาระหว่างกรุงมะนิลา (ฟิลิปปินส์) กรุงฮานอย (เวียดนาม) และกรุงเทพฯและปริมณฑล (ไทย) ทั้งนี้เพื่อการบูรณาการเมืองพลวัตที่มีการพัฒนาเมืองในทุกมิติและยังคงไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะ เพื่อสร้างความตระหนักและการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดกับเมืองและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แชร์