ปัญหาฝุ่น PM2.5 ใน กทม. เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว หรือ เมื่อสภาพอากาศปิด กลายปัญหาที่ส่งผลกระทบกับสุขภาพคนเมืองเป็นอย่างมาก และปริมาณของฝุ่นละอองขนาดเล็กก็ยิ่งเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกปี เนื่องด้วยส่วนหนึ่งของ กทม. แม้ว่าที่ผ่านมาการแก้ปัญหาจะยังไม่ค่อยเห็นผลอย่างชัดเจน แต่ในปีนี้มีความพิเศษกว่าทุกปี เพราะ กทม. มีคณะผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ และทางทีมของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ยังกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5

ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ ชวนชำแหละข้อดีข้อเสีย 13 แนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จาก 215 นโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ผ่านมุมมองของนักวิชาการที่ติดตามปัญหานี้มานานกว่า 10 ปี อย่างศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่จะมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้และอุปสรรคในอนาคต เราลองมาดูกันว่าแต่ละข้อเป็นอย่างไรกันบ้าง
1 จัดทีม ‘นักสืบฝุ่น’ ศึกษาต้นตอ PM2.5
ข้อดี : ปลูกฝังเยาวชนให้ตระหนักถึงอันตรายของฝุ่น
ข้อเสีย : การค้นหาแหล่งกำเนิดฝุ่นเป็นเรื่องยาก, อาจทำให้เกิดผลหรือแหล่งกำเนิดที่คลาดเคลื่อนเพราะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ
2 ตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงาน
ข้อดี : ทำให้โรงงานตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหา
ข้อเสีย : อาจต้องใช้งบประมาณมาก เพราะหากใช้เครื่องมือตรวจวัดราคาถูกการตรวจวัดอาจไม่ครอบคลุมสารเคมีอันตราย แต่หากจะให้โรงงานรับผิดชอบค่าใช่จ่ายด้วยการใช้เครื่องตรวจวัดคุณภาพสูง ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วย ซึ่งตรงนี้ต้องมีการหารือกันให้ขัดเจน
3 ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ปล่อยมลพิษ
ข้อดี : ทำให้ผู้กระทำความผิดตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหา
ข้อเสีย : กฎหมายที่เชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษทางอากาศมีหลายตัว แต่ด้วยบริบทที่เปลี่ยนไปของยุคสมัย ทำให้อาจต้องมีการปรับแก้บางข้อเพื่อให้สอดคล้องกับการบังคับใช้ในปัจจุบัน ภาคประชาชนบางส่วนมองว่าหากกฎหมายที่มีอยู่ดีแล้ว เหตุใดปัญหาจึงยังมีอยู่ ส่วนนี้จึงอยากให้มีการผ่านร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดมาเป็นเครื่องมือ แต่ยังขาดการพูดคุยที่ชัดเจน
4 สนับสนุนให้เกิด ecosystem รถพลังงานไฟฟ้า
ข้อดี : ลดไอเสีย, มลพิษที่เกิดจากยานพาหนะ, ลดการใช้พลังงานฟอสซิล
ข้อเสีย : ผู้บริโภคยังขาดความมั่นใจเกี่ยวกับการใช้งาน เช่น จุดชาร์จที่มีน้อย, การเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่, รถไฟฟ้าที่คุณภาพดีมี ราคาสูง เพราะรัฐไม่สนับสนุนหรือกระตุ้นความสนใจของประชาชน
5 ขยายระบบการติดตามและแจ้งเตือนฝุ่นสู่ระดับแขวง 1,000 จุด
ข้อดี : ช่วยเพิ่มความเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ให้หลากหลายมากขึ้น
ข้อเสีย : หากใช้เครื่องตรวจวัดราคาถูกอาจทำให้ข้อมูลไม่แม่นยำและเกิดความสับสนจนไม่น่าเชื่อถือ
6 ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วน บริเวณจุดควบคุมพิเศษ (Low Emission Zone)
ข้อดี : ช่วยลดมลพิษที่อาจเกิดขึ้นกับกลุ่มคนเปราะบางในพื้นที่ควบคุมพิเศษ
ข้อเสีย : –
7 ตรวจจับรถควันดำจากต้นตอ
ข้อดี : ทำให้ผู้กระทำความผิดตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหา
ข้อเสีย : –
8 พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ด้วยต้นไม้สำหรับพื้นที่เปิด ด้วยเครื่องฟอกอากาศสำหรับพื้นที่ปิด
ข้อดี : ช่วยลดปริมาณฝุ่น/มลพิษได้ในระดับหนึ่ง
ข้อเสีย : อาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าต้นไม้จะช่วยลดฝุ่นได้ทั้งหมด แต่ยังต้องอาศัยการแก้ปัญหาที่ต้นตอควบคู่ไปด้วย
9 ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง
ข้อดี : ช่วยลดปริมาณฝุ่น/มลพิษได้ในระดับหนึ่ง
ข้อเสีย : แก้ไขปัญหาได้ไม่ทั้งหมด อาจต้องอาศัยนวัตกรรมเช่น หอดักจับฝุ่น หรือเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพช่วยลดฝุ่นช่วยด้วย
10.พยากรณ์ แจ้งเตือน ป้องกันฝุ่น PM2.5
ข้อดี : ทำให้ผู้ที่อาศัยในจุดเสี่ยงตื่นตัวดูแลสุขภาพ/เฝ้าระวังสถานการณ์มากขึ้น
ข้อเสีย : –
11.ลดฝุ่น ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการปรับปรุงเครื่องยนต์เก่า
ข้อดี : ช่วยลดมลพิษที่จะมาจากไอเสียรถยนต์ได้, ประหยัดเชื้อเพลิง
ข้อเสีย : –
12. พัฒนาแบบจำลองเสมือนกรุงเทพฯ (Digital Twin) เพื่อใช้วางแผนและแก้ปัญหาเมือง
ข้อดี : ทำให้เกิดความแม่นยำในการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับแก้ไขปัญหาฝุ่นPM2.5โดยเฉพาะ
ข้อเสีย : –
13. วิเคราะห์ข้อมูลเมือง ต่อยอดสู่การแก้ไขปัญหา
ข้อดี : ทำให้เกิดความแม่นยำในการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะ สามารถนำมาใช้วางแผนระยะสั้น – ระยะยาวในการกำหนดนโยบายทั้งในช่วงที่เกิดวิกฤต และ แนวทางป้องกันในอนาคตได้
ข้อเสีย : –
ศาสตราจารย์ดร.ศิวัช ระบุว่า โดยสรุปแม้บางนโยบายจะมีความเป็นไปได้ยาก แต่ยังเป็นการเร็วเกินไปที่จะบอกว่าภาพรวมการแก้ปัญหาทั้งหมด ได้ผลดี หรือ ล้มเหลว เพราะบางปัญหาต้องอาศัยการขับเคลื่อนและวางแผนในระยะยาว