Thai Climate Justice for All – TCJA หรือที่รู้จักในนามตัวแทนของเครือข่ายต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ จับมือกับภาคประชาชาชนและกลุ่มเยาวชนล่ารายชื่อ 245 เสียง ลงนามเสนอข้อเรียกร้องถึงบทบาทของรัฐบาลไทยบนเวทีการประชุม COP 27 และต่อแนวทางนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยมอบให้ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้มีการขับเคลื่อนในระดับประเทศ
การเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นการแสดงออกของกลุ่มเยาวชนเพื่อกระตุ้นให้ภาคประชาชน และภาครัฐ ตื่นตัวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ ซึ่งนับเป็นปัญหาเร่งด่วนและกำลังส่งผลกระทบกับนานาประเทศทั่วโลก แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นท่าทีเอาจริงเอาจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะลุกขึ้นมาแก้ไข

น.ส.ประณัยยา ปัณฑรานุวงศ์ หรือ พิมพ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายThai Climate Justice for All เป็น เยาวชนวัย 23 ปี ที่หันมาสนใจปัญหาโลกรวน(Climate Change) มองว่า หายนะที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ใช่แค่หายนะรุนแรงหรือเหตุการณ์แบบในภาพยนตร์ ที่เป็นแนววันสิ้นโลกเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้วปัจจัยที่ทำให้ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝุ่นPM2.5 และวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
ล้วนมีความเชื่อมโยงกันและมีที่มาจากภาวะโลกรวน แต่สิ่งที่พบเจอในเวทีการประชุม COP27 หรือ จากนโยบายของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโลกรวน กับเกี่ยวข้องแต่เรื่องตลาดคาร์บอน หรือการซื้อขายคาร์บอนเท่านั้น ส่วนนี้จึงอยากให้รัฐเพิ่มแนวทางการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการปรับตัว เพราะในยุคของเธอ อาจเป็นยุคที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น ถ้าหากมีการปลูกฝังแนวทาง หรือนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ช่วยให้มนุษย์สามารถเอาตัวรอดได้เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ ส่วนนี้จึงมองว่าน่าจะเป็นประโยชน์

เช่นเดียวกับ นายภูริณัฐ เปลยานนท์ เยาวชนสมาชิกกลุ่มการเมืองสิ่งแวดล้อม (Environmental Politics) ที่มองว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องเฉพาะกลุ่ม และในประเทศไทย ภาครัฐให้ความรู้กับเยาวชนน้อยมาก ทั้งที่ประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัญหาส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของประชาชนเกือบทุกคน ส่วนนี้จึงมองว่า เป็นเรื่องที่ไม่ควรปล่อยผ่านหรือส่งต่อสังคมที่ไม่ดีให้กับคนรุ่นหลัง
จากการติดตามการประชุม COP27 พบว่าประเด็นที่มีการถกเถียงกันคือเรื่องกองทุนเพื่อชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage)เสียส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าแม้จะมีการตั้งกองทุน แต่ในด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาโลกรวน ก็ยังไม่มีนโยบายอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป หรือมีอะไรเป็นหลักประกันที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้เชื่อได้ว่า
เรากำลังเปลี่ยนผ่านไปยังสังคมที่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ส่วนนี้จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการระดมความคิดเห็นจากเพื่อน ๆ และเยาวชนที่มีความสนใจคล้ายกัน มารวมตัวกันเปิดเพจให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้สังคมรู้ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจเท่านั้นที่จะสื่อสารหรือมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายได้ แต่ภาคประชาชนหรือกลุ่มเยาวชนเองก็สามารถขับเคลื่อนได้เช่นกัน

ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และผู้ขับเคลื่อนThai Climate Justice for All ระบุว่า จากการติดตามบทบาทของรัฐบาลไทยในการประชุม COP27 พบยังมีความล้มเหลวอยู่หลายประการ เช่น นโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อาจยังไม่มากพอ, การไม่ระบุที่มาของปัญหาว่ามาจากกลุ่มทุนธุรกิจพลังงานฟอสซิล และไม่มีการกำหนดหลักการของกองทุนเพื่อชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage)
จึงต้องจัดทำข้อเสนอ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเป้าหมายนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้มาตรการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยยังไม่มีน้ำหนักเพราะรัฐบาลคำนึงถึงผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงานและอุตสาหกรรมรายใหญ่มากกว่าประชาชน อีกเรื่องคือประเด็นการฟอกเขียว ที่มีการอ้างเรื่องคาร์บอนเครดิต และ คาร์บอนเป็นกลาง ซึ่งทั้งหมดยังไม่ใช่ทางออก
และประเด็นสุดท้ายคือ ต้องการเห็นนโยบายที่จะเข้าไปสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรรายใหญ่ ชาวบ้านทั่วไป กลุ่มคนเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ ที่ต้องได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อ คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนได้รับข้อเรียกร้องแล้ว จะมีการนำเข้าหารือในรัฐสภาเพื่อขับเคลื่อนในระดับนโยบายต่อไป
