เครื่องหมายอัศเจรีย์

หน่วยงานด้านสภาพอากาศของ UN ชี้ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงทำสถิติใหม่ในปี 2021

1 พฤศจิกายน 2565

ฝุ่น

หน่วยงานด้านสภาพอากาศขององค์การสหประชาชาติระบุว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิดหลักๆ ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นสูงทำสถิติใหม่ในปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งระบุว่าปรากฏการณ์นี้ถือเป็น “ลางร้าย” ท่ามกลางปัญหารุมเร้าโลกทั้งสงครามในยูเครน ราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูง รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่เบียดบังเรื่องปัญหาโลกร้อนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

un 1

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ใช้คำว่า “เป็นข่าวร้ายอีกข่าวสำหรับโลก” ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่พร้อมการเปิดเผยรายงาน Greenhouse Gas Bulletin หรือรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกประจำปี ซึ่งเป็นหนึ่งในรายงานหลายฉบับที่เผยแพร่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ที่เจาะลึกถึงความพยายามของมนุษยชาติในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงก่อนที่การประชุมด้านสภาพภูมิอากาศโลกหรือ COP27 จะเริ่มต้นขึ้นในเมือง Sharm el-Sheikh ที่ประเทศอียิปต์

            WMO ระบุว่าในบรรดาก๊าซเรือนกระจกที่มีผลกักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศโลก 3 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ ก๊าซที่มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นมากที่สุดระหว่างช่วงปี 2020-2021 คือมีเทน ซึ่งพบว่าความเข้มข้นเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลเมื่อ 40 ปีก่อน

“ความเข้มข้นของก๊าซที่กักเก็บความร้อนหลักๆ ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงระดับของก๊าซมีเทนที่เพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ สะท้อนให้เห็นว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ผิด” Petteri Taalas เลขาธิการ WMO กล่าว

ข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า ก๊าซมีเทนมีฤทธิ์กักเก็บความร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ แต่อยู่ในชั้นบรรยากาศได้ไม่นานเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งยังมีจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมากกว่ามีเทนถึง 200 เท่าตัว โดยในช่วงเวลา 20 ปีโมเลกุลของมีเทนจะดักจับความร้อนได้มากกว่าโมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 81 เท่า แต่ในช่วงเวลา 100 ปี ศักยภาพของมีเทนในการกักเก็บความร้อนจะลดลงเหลือ 28 เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อวัดเป็นโมเลกุลต่อโมเลกุล

นับตั้งแต่ช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่ง WMO ตั้งเกณฑ์ไว้ประมาณปี 1750 ระดับความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเพิ่มขึ้นเกือบ 50% เป็น 415.7 ต่อ 1 ล้านส่วน โดยมีสหรัฐฯ จีน และยุโรปเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซนี้จำนวนมาก ขณะที่สัดส่วนของมีเทนเพิ่มขึ้น 162% เป็น 1,908 ต่อ 1 พันล้านส่วน และไนตรัสออกไซด์เพิ่มขึ้นประมาณ 1 ใน 4 เป็น 334.5 ต่อ 1 ล้านส่วน จากฝีมือมนุษย์ในกิจกรรมอย่างเช่นการเผาไหม้ของพลังงานชีวมวล กระบวนการต่างๆ ทางอุตสาหกรรม และการใช้ปุ๋ย

UN2

หน่วยงานด้านสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติระบุว่าเป้าหมายของประเทศต่างๆเกี่ยวกับการตัดลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันจะยังคงทำให้โลกมุ่งหน้าไปสู่การมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าเป้าหมายของข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015

โดยจากการประเมินเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ 193 ประเทศล่าสุด พบว่าโลกจะยังมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอีก 2.5 องศาเซลเซียสภายในปลายศตวรรษนี้เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของข้อตกลงปารีสที่ตั้งไว้เพียง 1.5 องศาเซลเซียสถึง 1 องศาเซลเซียสเต็มๆ

“เรายังไม่เข้าใกล้เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสแต่อย่างใด” Simon Stiell หัวหน้าหน่วยงานด้านสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติระบุผ่านแถลงการณ์ “รัฐบาลของประเทศต่างๆ จะต้องยกระดับแผนการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศในทันทีและนำมาปฏิบัติให้ได้จริงภายในอีก 8 ปีข้างหน้านี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้”

นอกจากนี้รายงานดังกล่าวยังพบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้น 10.6% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2010 ซึ่งลดลงจากการประเมินเมื่อปีที่แล้วที่ 13.7% เพียงเล็กน้อย

รายงานซึ่งเผยแพร่โดย Climate Action Tracker ที่ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามเป้าหมายลดโลกร้อนของประเทศต่างๆ พบว่า จากการประเมินตามตัวชี้วัดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40 ข้อ อย่างเช่นการลดการพึ่งพาถ่านหิน ส่งเสริมการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า หรือลดการตัดไม้ทำลายป่า โลกไม่ได้มีความคืบหน้าในระดับที่จะบรรลุเป้าหมายการตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะนำไปสู่เป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้แต่อย่างใด มากกว่าครึ่งหนึ่งของบรรดาตัวชี้วัดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าทั่วโลกค่อนข้างจะไม่ได้อยู่ในร่องในรอยของการตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่อย่างน้อยก็ยังพอมีความคืบหน้าให้เห็นอยู่บ้าง

นักอุตุนิยมวิทยาและกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมต่างเรียกร้องและสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมานานหลายปีด้วยการชี้ให้เห็นถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เช่น การเกิดไฟป่าในจีน ในภาคตะวันตกของสหรัฐฯ ภัยแล้งในแถบจะงอยแอฟริกา รวมถึงอุทกภัยที่รุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในปากีสถาน ซึ่งเป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น

UN 3

คาร์บอนไดออกไซด์ยังคงเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์มากที่สุด โดยหลักๆ มีที่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลและการผลิตซีเมนต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 2 ใน 3 ของการทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนจากการแผ่รังสี โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาคาร์บอนไดออกไซด์มีส่วนทำให้โลกร้อนถึงประมาณ 4 ใน 5

ขณะที่มีเทนนับเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 6 ตามการประเมินของ WMO ซึ่ง 3 ใน 5 ของปริมาณมีเทนทั้งหมดขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศได้ด้วยการเรอและผายลมของปศุสัตว์ การทำนาข้าว การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาไหม้ชีวมวลและบ่อขยะ ส่วนที่เหลือมาจากแหล่งในธรรมชาติ เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ และปลวก

Rob Jackson ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ Global Carbon Project ชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของมีเทนในช่วง 2 ปีหลังนี้ “น่าพิศวง” ไม่ว่าจะเป็นผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การปล่อยก๊าซชะงักไปชั่วคราว หรืออาจเป็นสัญญาณของ “การเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซมีเทนจากพื้นที่ชุ่มน้ำและระบบอื่นๆ ที่เรากังวลกันมานานหลายทศวรรษ”

“ระดับความเข้มข้นของมีเทนและไนตรัสออกไซด์ไม่เพียงแต่จะเพิ่มขึ้น แต่ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่เคย เราจะต้องให้ความสำคัญกับคาร์บอนไดออกไซด์เช่นเคย แต่จะต้องหันมาสนใจก๊าซเรือนกระจก ‘อื่นๆ’ มากขึ้นด้วย” เขากล่าวเสริม “โชคยังดีที่มีเทนเริ่มได้รับความสนใจอย่างที่ควรแล้ว” ผ่านโครงการเช่น Global Methane Pledge ที่พยายามตัดลดการปล่อยก๊าซมีเทนและได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอื่นๆ ส่วนไนตรัสออกไซด์ยังคง “ถูกละเลยอยู่มาก” เขากล่าว

ขณะที่ Taalas ผู้ซึ่งย้ำเตือนเรื่องปัญหาโลกร้อนมานานหลายปี มองว่ายังคงต้องเน้นให้ความสนใจคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก โดยเขาระบุว่า “เราต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนที่สุดกับการตัดลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเชื่อมโยงกับสภาวะอากาศสุดขั้วซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศนานหลายพันปีจากการสูญเสียน้ำแข็งขั้วโลก การที่มหาสมุทรอุ่นขึ้น และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น”

ขณะที่องค์การนาซาประกาศว่าอุปกรณ์บนสถานีอวกาศนานาชาติที่ออกแบบมาเพื่อตรวจสอบฝุ่นแร่ธาตุกลับกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจจับ “แหล่งปล่อยก๊าซมีเทนที่สำคัญ” จากบนวงโคจร พร้อมเผยภาพถ่ายที่แสดงถึงกลุ่มก๊าซความยาวหลายกิโลเมตรที่กำลังเกิดการรั่วไหลของมีเทน โดยการรั่วไหลของท่อส่งก๊าซและโครงข่ายระบบท่อก๊าซอื่นๆ ในเติร์กเมนิสถานกำลังปล่อยก๊าซมีเทนมากถึงชั่วโมงละ 55 ตัน คล้ายกับการรั่วไหลที่ Aliso Canyon เมื่อปี 2015 ในรัฐ  New Mexico ที่ปล่อยก๊าซถึงชั่วโมงละ 18 ตัน และบ่อขยะในอิหร่านที่ปล่อยก๊าซชั่วโมงละ 8 ตัน

“เรากำลังค้นหาในจุดที่ไม่มีใครคิดจะมองหาก๊าซมีเทน” Robert Green นักวิทยาศาสตร์ของนาซากล่าว “ถ้าที่ไหนมีก๊าซมีเทน เราก็จะเห็นมัน” 

ที่มา https://apnews.com/article/united-nations-climate-and-environment-476894782b7fdfc62cbeeb3e116264fb?utm_source=homepage&utm_medium=TopNews&utm_campaign=position_09

แชร์