เครื่องหมายอัศเจรีย์

ธารน้ำแข็ง ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโลก อาจหายไปในไม่ช้า

18 พฤศจิกายน 2565

องค์การด้านวัฒนธรรมขององค์การสหประชาชาติเตือนว่าแผ่นน้ำแข็งบนเขา Kilimanjaro ใน Dolomites และใน Yosemite อาจหายไปภายในปี 2050 ยิ่งตอกย้ำเรื่องผลกระทบจากการเดินทางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกของ UNESCO หรือองค์การเพื่อการศึกษา  วิทยาศาสตร์  และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  แห่งสหประชาชาติ ถือเป็นตรารับรองชั้นเลิศในโลกแห่งการท่องเที่ยว ทะเบียนนี้เริ่มทำขึ้นในปี 1978 และมีสถานที่มากกว่า 1,150 แห่งที่ได้รับการเสนอชื่อโดยประเทศเจ้าภาพ และรวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวอย่างกำแพงเมืองจีน แนวปะการัง Great Barrier Reef ในออสเตรเลีย และศูนย์อนุรักษ์ป่าแอมะซอนกลาง (Central Amazon Conservation Complex) ในบราซิล

นอกจากนี้ยังมีธารน้ำแข็งที่มีชื่อเสียงและมีผู้เยี่ยมชมมากที่สุดของโลก ซึ่งรวมถึงธารน้ำแข็งในอุทยานแห่งชาติ Yosemite แต่ในรายงานขององค์การดังกล่าวซึ่งเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ก่อนมีการคาดการณ์ว่า 1 ใน 3 จะหายไปภายในปี 2050 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ธารน้ำแข็งที่มีแนวโน้มว่าจะหายไปนั้นรวมถึงธารน้ำแข็งแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ในทวีปแอฟริกา ในอุทยานแห่งชาติ Kilimanjaro และบนภูเขา Kenya ธารน้ำแข็งบนภูเขา Perdu ของเทือกเขา Pyrenees ซึ่งครอบคลุมพรมแดนของฝรั่งเศสและสเปน และธารน้ำแข็งในเทือกเขา Dolomites ของอิตาลี

ธารน้ำแข็ง 1

รายงานที่เผยแพร่เมื่อไม่กี่วันก่อนการประชุม COP27 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติซึ่งจะเริ่มขึ้นในอียิปต์ สร้างความท้าทายแก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก โดยมีสัดส่วนประมาณ 8–11% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดตามข้อมูลจาก World Travel & Tourism Council (W.T.T.C.) ทั้งนี้การเดินทางโดยเครื่องบินคิดเป็นประมาณ 17% ของการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทางทั้งหมด

James Thornton ผู้บริหารระดับสูงของ Intrepid Travel บริษัทนำเที่ยวซึ่งเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและจัดทริปเดินทางไปยัง ธารน้ำแข็ง หลายแห่งตามชื่อที่ปรากฏอยู่ในรายงาน กล่าวว่ารายงานดังกล่าวเป็นเครื่องเตือนใจอย่างชัดเจนถึงบทบาทสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในการอนุรักษ์พื้นที่เปราะบางและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

“นี่คือสัญญาณเตือนแบบจริงจัง” เขากล่าว “ใจความหลักคือท้ายที่สุดแล้วสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มันไม่มีวัคซีนอะไรที่ป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดคาร์บอนอย่างรวดเร็ว”

ธารน้ำแข็ง 2

รายงานดังกล่าวบอกว่ามรดกโลก 50 แห่งของ UNESCO เป็นที่ตั้งของ ธารน้ำแข็ง โดยระบุว่ามีธารน้ำแข็งจำนวน 18,600 แห่งอยู่ตามสถานที่ดังกล่าว และ 1 ใน 3 ของธารน้ำแข็งในพื้นที่เหล่านี้จะ “ถูกทำให้หายไปภายในปี 2050” 

“สิ่งเหล่านี้เป็นการคาดคะเน” Tales Carvalho Resende นักวิจัยของ UNESCO จากบราซิลและหนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าว “เราหวังว่าเราจะคิดผิด แต่นี่เป็นการคาดคะเนตามหลักวิทยาศาสตร์นะ”

เขาบอกว่าธารน้ำแข็งจะหายไปไม่ว่าจะทำการจำลอง “สภาพอากาศ” แบบไหนก็ตาม แต่ในรายงานบอกว่าเราสามารถรักษา 2 ใน 3 ของธารน้ำแข็งที่เหลืออยู่ในแหล่งมรดกโลกไว้ได้หากภาวะโลกร้อนถูกจำกัดไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส หรือ 2.7 องศาฟาเรนไฮต์ 

UNESCO บอกว่าธารน้ำแข็งในรายชื่อนี้กำลังสูญเสียน้ำแข็ง 5.8 หมื่นล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณเทียบเท่ากับการใช้น้ำต่อปีของฝรั่งเศสและสเปนรวมกัน จากการศึกษาพบว่าการละลายดังกล่าวทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นเกือบ 5%

การลดฮวบของราคาพลังงานหมุนเวียนและการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วโลกทำให้นักวิทยาศาสตร์สรุปว่าภาวะโลกร้อนในศตวรรษนี้น่าจะอยู่ระหว่างสองหรือสามองศา ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ในกรณีเลวร้ายที่สุดหรือ 4-6 องศาซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่การจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5 องศานั้นเป็นไปได้น้อยมาก และแม้แต่อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นอีก 1 หรือ 2 องศาก็จะนำไปสู่สภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรงขึ้น การหยุดชะงักของธุรกิจจากสิ่งแวดล้อม และความทุกข์ทรมานของมนุษย์หลายล้านคน

ถึงกระนั้น Resende กล่าวว่ารายงานของ UNESCO แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถมีบทบาทอย่างมากในการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกและช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว

เขาพูดถึงคำสั่งห้ามในปี 2019 ที่ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวปีน Uluru หรือภูเขาหินมหึมาในออสเตรเลียอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเผ่า Anangu หรือกลุ่มชาวอะบอริจินซึ่งเป็นผู้พิทักษ์หิน คำสั่งห้ามดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ชาว Anangu รณรงค์กันมานานหลายทศวรรษ ทั้งนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยอมปฏิบัติตามและทำให้เจ้าหน้าที่อุทยานมีเวลาไปดูแลรักษาพืชและสัตว์ในอุทยานแห่งชาติ Uluru-Kata Tjuta ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลก

Resende อธิบายว่านี่เป็นตัวอย่างของการที่การศึกษาและการร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นสามารถบังคับให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางและเรียนรู้วิธีปกป้องจุดหมายปลายทางที่มีประเด็นได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นบทเรียนที่อาจนำไปปรับใช้กับการควบคุมพฤติกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

เขาบอกว่าบริษัทนำเที่ยวอย่าง Expedia และ Kayak สามารถทำให้ผู้คนเดินทางน้อยลงด้วยการโฆษณาทริประยะยาวเป็นสัปดาห์ให้มากกว่าทริปสามวันหรือทริปสุดสัปดาห์ ในทางทฤษฎีแล้วนักเดินทางที่บินปีละครั้งเพื่อเที่ยวระยะยาวจะสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยกว่านักเดินทางที่เที่ยวระยะสั้นกว่าแต่หลายครั้ง

ในการประชุม COP ครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้วซึ่งจัดที่เมือง Glasgow สกอตแลนด์ สมาชิกกว่า 300 คนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกซึ่งมีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ผู้บริหารเครือโรงแรม และผู้นำคณะกรรมการการท่องเที่ยว ได้ร่วมกันลงนามในปฏิญญากลาสโกว์ว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพอากาศในการท่องเที่ยว จนถึงปัจจุบันมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่า 530 รายที่ได้ลงนามในปฏิญญานี้

ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ทุกคนต้องส่งแผนการที่เป็นรูปธรรมและโปร่งใสภายใน 12 เดือน โดยต้องลดการปล่อยคาร์บอนลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และ “สุทธิเป็นศูนย์” ภายในปี 2050

Jeff Roy รองประธานบริหารของ Collette Tours ซึ่งเป็นบริษัทนำเที่ยวที่จัดทริปไปยังแหล่งมรดกโลกบอกว่าบริษัทนำเที่ยวนั้นมี “ภาระหน้าที่พิเศษ” ในจัดการกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่มาจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

“ข่าวดีก็คือคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รวมตัวเพื่อแบ่งปันทรัพยากรและทำงานร่วมกันเพื่อเปลี่ยนการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน” เขากล่าวในแถลงการณ์ “ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำและทำให้ไว เนื่องจากสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเรื่อยๆ”

Thornton ยกตัวอย่างบริษัท Intrepid ที่เริ่มให้บริการรถบัสแก่นักท่องเที่ยวเพื่อไปมาระหว่างจุดท่องเที่ยวบางจุดแทนการบิน ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เคยมีมา 

การเผยแพร่รายงานดังกล่าวได้สร้างความกังวลว่านักท่องเที่ยวจะแห่กันไปดูธารน้ำแข็งก่อนที่มันจะหายไป แล้วจะก่อให้เกิดความแออัดยัดเยียดยิ่งกว่าเดิมในอุทยานแห่งชาติและพื้นที่ธรรมชาติที่เปราะบาง

Fred Bianchi ผู้อำนวยการศูนย์โครงการ Glacier National Park ของ Worcester Polytechnic Institute ในรัฐ Montana กล่าวว่า “อุทยานแห่งชาติทุกที่ประสบปัญหาเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป และพวกเขาต้องดำเนินการขนานใหญ่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพื่อจัดการปัญหานี้” ทั้งนี้อุทยานดังกล่าวไม่ได้ปรากฏอยู่รายงานของ UNESCO แต่นักวิทยาศาสตร์ก็เกรงว่าอุทยานแห่งนี้อาจปราศจากธารน้ำแข็งภายในปี 2030

Bianchi กล่าวว่าการระบาดของโควิดนั้นทำให้สวนสาธารณะหลายแห่งต้องใช้ระบบการจองเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดของคนเข้าออก และรายงานของ UNESCO ก็เป็นแรงจูงใจอีกส่วนหนึ่งให้ใช้ระบบนี้ต่อไป 

Luther Likes เอเจนท์จองทริปของ Grey Line Travel กล่าวว่านักท่องเที่ยวจำนวนมากควรเห็นความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์สร้างขึ้น บริษัทของเขาจัดทริปไปยังอุทยานแห่งชาติ Yosemite ซึ่งธารน้ำแข็งสองแห่งคือ Lyell และ Maclure ได้หดตัวกว่าหลายทศวรรษแล้ว

“การได้เห็นมันในรูปภาพก็อารมณ์นึง แต่การได้เห็นด้วยตาตัวเองนั้นจะสร้างอิมแพคอีกแบบ” Likes กล่าว “พูดจริงๆ มันน่ากลัวมากนะ”

ที่มา : https://www.nytimes.com/2022/11/07/travel/glaciers-melting-unesco.html

แชร์