สทนช.ชี้ ‘ป่าถูกทำลาย’- ‘ไร้แหล่งกักน้ำ’ ต้นเหตุแม่น้ำยมแห้งขอด กระทบ จ.พิจิตร แทบทุกปี ขณะที่กรมชลประทานมีแผนสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำสาขา แต่ยังติดปัญหาบางพื้นที่อยู่ในเขตป่า
สถานการณ์น้ำยมที่ไหลผ่านช่วง จ.พิจิตร แห้งขอดจนเห็นผืนทราย ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรกร
ข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า แม่น้ำยมไหลผ่าน จ.พิจิตร ที่ อ.สามง่าม อ.โพธิ์ประทับช้าง และ อ.โพทะเล โดยไหลบรรจบกับแม่น้ำน่านที่บ้านเกยชัย อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ มีความยาวทั้งสิ้น 124 กม. ความลึกเฉลี่ย 6.16-8.10 เมตร ที่ผ่านมาเกิดภัยแล้งจัด จนแม่น้ำแห้งขอดในปี 2546-2559 และปี 2562

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยกับ DXC Online ถึงสาเหตุแม่น้ำยมไหลผ่านช่วง จ.พิจิตร แห้งขอดแทบทุกปี เนื่องจากผืนป่าต้นน้ำใน จ.พะเยา ถูกทำลาย ประกอบกับไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำตอนบน ทำให้ใช้น้ำจากป่าอย่างเดียว ซึ่งเป็นวัฎจักรทางธรรมชาติ จะแห้งขอดเช่นนี้ทุกปี แตกต่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ดังนั้น วิธีการแก้ไขจะต้องเร่งฟื้นฟูป่าให้มีสภาพสมบูรณ์โดยเร็ว หรือสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำสาขาแทนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ยากจะเป็นไปได้
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้มีแผนดำเนินงานแล้ว แต่ยอมรับว่า พื้นที่สร้างเขื่อนกั้นน้ำสาขาอาจติดปัญหา เพราะบางพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตป่าสงวน ทำให้การขออนุญาตใช้พื้นที่ยากลำบาก และชาวบ้านไม่ยินยอม รวมถึงต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ประกอบด้วย .