เครื่องหมายอัศเจรีย์

เมื่อฤดูแล้งมาถึง จัดการ ‘ป่าพรุ’ เฝ้าระวังไฟไหม้

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคใต้ของไทย มีสาเหตุหลักจากไฟไหม้ป่าพรุทั้งในประเทศไทย และจากประเทศอินโดนีเซีย ทำให้เกิดหมอกควันข้ามพรมแดน โดยเฉพาะในฤดูแล้งจัดหรือปีที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ช่วง มิ.ย.-ส.ค. ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ใครเผาป่าพรุ? ธรรมชาติหรือน้ำมือมนุษย์

ศ.พีระพงศ์ ทีฆสกุล นักวิจัย ม.สงขลานครินทร์

ศ.พีระพงศ์ ทีฆสกุล นักวิจัย ม.สงขลานครินทร์ ระบุกับ DXC Online ว่า การเผาป่าพรุส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งมีปัจจัยเรื่องปัญหาปากท้องเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ชาวบ้านต้องเผาเพื่อหาของป่า หรือเผาเพื่อเก็บกระจูดนำมาทำผลิตภัณฑ์ เพราะเชื่อว่า จะทำให้กระจูดเติบโตดีและเก็บเกี่ยวง่าย ขณะที่การเผาเพื่อบุกรุกพื้นที่นั้นเริ่มลดน้อยลง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขปัญหา โดยรักษาระดับน้ำในป่าพรุให้คงที่หรือเกินปริมาณเพื่อเป็นแนวกินไฟลาม ยกเว้น กรณีแล้งจัด น้ำแห้ง ข้อนี้ถือเป็นเรื่องยาก จึงต้องสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน เช่น ชุมชนรอบป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช มีการจัดสร้างเครือข่ายเยาวชนป้องกันไฟป่า เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลเสียที่เกิดจากการเผา

“หมอกควันจากการเผาป่าพรุ เมื่อสูดดมเข้าไป อาจไม่เห็นผลเสียต่อสุขภาพทันที แต่จะสะสมทำให้เกิดโรคต่าง ๆ  เช่น ระบบทางเดินหายใจ มะเร็ง หลอดเลือดหัวใจอุดตัน เยาวชนจึงต้องเรียนรู้และส่งต่อความรู้นั้นไปยังชุมชนและช่วยกันดูแล”

นอกจากผลกระทบที่เกิดจากการเผาไหม้ป่าพรุในประเทศ นักวิจัย ยังบอกว่า หลายจังหวัดในภาคใต้ โดยเฉพาะ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ยังต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นหมอกควันข้ามพรมแดน จากการเผาไหม้ป่าพรุในเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากจังหวัดตั้งอยู่ในพื้นที่ของลมเคลื่อนผ่าน ประกอบกับสภาพภูมิอากาศเป็นแอ่ง ทำให้มีการสะสมของหมอกควันในพื้นที่ ซึ่งระยะเวลาขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศในช่วงนั้น

และแม้ที่ผ่านมา มีการแก้ไขปัญหาผ่านเวทีประชาคมอาเซียน แต่ต้องเข้าใจว่า เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศ ทุกประเทศมีอธิปไตยเป็นของตนเอง จึงไม่มีสิทธิก้าวก่ายการจัดการปัญหาภายใน นอกจากตกลงข้อหารือและทำงานร่วมกันเท่านั้น

“ถ้ารัฐบาลอินโดนีเซียเอาจริงเอาจังก็หยุดได้เช่นกัน แต่จะอาศัยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสุดท้ายปัญหาเกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชน ดังนั้นการแก้ไขตั้งแต่ต้นทางจะเป็นสิ่งยั่งยืน”

“ขณะที่รัฐบาลไทยดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่ถูกจุด ที่ภาคใต้ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนการแก้ปัญหาในประเทศแม้จะมีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แต่ไม่มีกฎหมายให้ควบคุม มีเพียงการรายงานและประสานความร่วมมือ ทำให้ไม่มีเอกภาพในการจัดการ เสมือนไปรบมือเปล่า ทั้งที่เป็นองค์กรที่มีความรู้และความสามารถ”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนไทยมีความตระหนักรู้เข้าใจในเรื่องพิษภัยจากหมอกควันข้ามพรมแดน หากเปรียบเทียบเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และยังมีการผลักดันเครือข่ายอากาศสะอาดผลักดันกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหา

“แรก ๆ คนไม่เข้าใจ และไม่รู้ว่าหมอกควันสามารถข้ามพรมแดนได้ แต่ภายหลังคนเข้าใจมากขึ้น มีภาคประชาสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องทำให้ถูกจุดและค่อย ๆ ทำ”

นักวิจัย ม.สงขลานครินทร์ กล่าว

‘พรุบางนกออก’ ต้นแบบจัดการไฟป่า

ป่าพรุเสม็ดทุ่งบางนกออก ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เมื่อปี 2508 พื้นที่ประมาณ 6,250 ไร่ มีพื้นที่ครอบคลุม ต.ควนโส อ.ควนเนียง จ.สงขลา มักเกิดไฟไหม้เป็นประจำทุกปีในฤดูแล้ง

โดยเฉพาะในปี 2562 เกิดไฟไหม้ป่าพรุเสม็ดทุ่งบางนกออกอย่างหนัก จนทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบจากควันไฟใน 6 หมู่บ้าน มากกว่า 1,000 คน พื้นที่ป่าได้รับความเสียหายมากกว่า 1,500 ไร่ และสวนปาล์ม 300 ไร่ ที่ผ่านมาจึงแก้ปัญหาด้วยการขุดร่องน้ำและสูบน้ำให้เอ่อล้น ป้องกันการลุกลามของไฟป่าได้

วาสนา แก้วโสตร์ ชาวบ้าน หมู่ 11 ต.ควนโส อ.ควนเนียง จ.สงขลา บอกเล่าให้ DXC Online ฟัง ถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งเกิดไฟไหม้ป่าพรุแห่งนี้ ว่าลุกลามอย่างรวดเร็วจนเกือบถึงแนวเขตถนน เพราะสะเก็ดไฟถูกกระแสลมพัดปลิวว่อนตกทั่วพื้นที่คล้ายรังไข่มดแดงโดนขย่ม ชาวบ้านจึงช่วยกันตักน้ำจากคูน้ำที่ขุดลอกไว้ขึ้นมาช่วยกันดับไฟ ส่วนนายทุนเจ้าของสวนปาล์มฉีดน้ำเข้าไปในสวนเพื่อสร้างแนวกันไฟ

ขณะที่ ภิติพัฒน์ หนูมี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล อบต.ควนโส อ.ควนเนียง จ.สงขลา กล่าวถึงการป้องกันไฟไหม้ป่าพรุในพื้นที่ โดยจัดให้มีแผนเผชิญเหตุ สร้างอาสาสมัครดับไฟประจำหมู่บ้าน และแกนนำดูแลรักษาป่า ทำงานร่วมกับสถานีควบคุมไฟป่า โดยหากเกิดไฟไหม้สามารถปฏิบัติการได้ตลอด 24 ชม. อีกทั้งยังจัดทำธรรมนูญชุมชนบรรจุเรื่องสุขภาพ และการอนุรักษ์พร้อมเฝ้าระวังไฟไหม้ในป่าพรุไว้ด้วย

ทั้งนี้ มีการนำแผนการขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหาไฟไหมป่าพรุบางนกออก เข้าสู่เวทีหารือ “สานพลังคนไทย พื้นที่ สู้วิกฤตมลพิษทางอากาศ ซึ่งจัดขึ้นใน 6 จังหวัดทั่วประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

แชร์