เครื่องหมายอัศเจรีย์

“Ransomware” เจาะระบบ-ฉกข้อมูล-เรียกค่าไถ่

Ransomware จัดเป็น มัลแวร์ หรือซอฟต์แวร์ประเภทหนึ่ง ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความเสียหายให้กับคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ หรือจงใจส่งผลกระทบต่อระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อติดตั้งลงในระบบแล้ว จะสามารถเข้าถึงทรัพยากรของระบบคอมพิวเตอร์จากระยะไกล หรือติดตามรายละเอียดของผู้ใช้งานได้

ข้อมูลจากศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (FBI) เผยว่า เมื่อปี 2560 ได้รับคำร้องเรียนเรื่อง “การเรียกค่าไถ่ทางไซเบอร์” หรือ Ransomware รวม 1,783 กรณี สร้างความเสียหายต่อเหยื่อกว่า 2.3 ล้านดอลลาร์

ก่อนหน้านี้ทั่วโลกเคยต้องรับมือกับมัลแวร์เรียกค่าไถ่ WannaCry ที่แพร่กระจายไปยังคอมพิวเตอร์ราว กว่า 100,000 เครื่อง ใน 74 ประเทศ อาทิ สหรัฐ รัสเซีย เยอรมนี อิตาลี ตุรกี เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งเรียกค่าไถ่จากเหยื่อถึง 300 ดอลลาร์ ขณะที่ในไทยเองก็มีหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนตกเป็นเหยื่อ

ข้อมูลจากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในปี 2561 ระบุถึง สถิติการก่อเหตุอาชญากรรมทางโซเชียลมีเดียที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกรณีคนร้ายแฮกเข้าสู่ระบบ มีมากถึง 623 ราย แยกเป็นการแฮกเพื่อปรับเปลี่ยน ขโมย หรือทำลายข้อมูลจำนวน 499 ราย แฮกเพื่อหลอกโอนเงินจำนวน 124 ราย

ปกรณ์ ทองจีน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระบุว่า การแฮก “ซอฟต์แวร์” เป็นธุรกิจในตลาดมืดที่ได้รับความนิยมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าปัจจุบันข้อมูลเดต้าเปรียบเหมือนน้ำมัน ทุกคนทุกองค์กรต่างหวงแหน Data ที่ตัวเองมี ฉะนั้นเหล่ามิจฉาชีพจึงอาศัยสาเหตุตรงนี้มาเป็นโอกาส โดยใช้เทคนิคมัลแวร์ในรูปแบบต่างๆ ที่ได้รับความนิยมที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คือ Ransomware หรือที่เรียกกันว่า “ไวรัส” แฮกเกอร์จะแฮกเข้าไปแล้วเข้ารหัสข้อมูลที่สำคัญ เข้ารหัสล็อกไฟล์จนผู้เข้าใช้งานเข้าถึงข้อมูลไม่ได้ หลังจากนั้นก็จะทำการเรียกค่าไถ่ บางคนถึงกับต้องยอมจ่าย นอกจากนี้ยังพบว่า หลายครั้งที่ผู้ใช้งานจ่ายเงินไป แต่กลับได้ข้อมูลคืนมาเพียงแค่ 50-80% และหลายครั้งก็ไม่ได้คืน แนวทางการแก้ไขที่สมบูรณ์ที่สุด คือ การให้ความรู้คนในองค์กร เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ แฮกเกอร์

แชร์