เครื่องหมายอัศเจรีย์

สุเมธ องกิตติคุณ : ขับรถเหมือนซื้อล็อตเตอรี่ ถูกรางวัลครั้งนี้อาจไม่ได้ใช้

เข้าสู่เทศกาลวันสงกรานต์ หลายหน่วยงานต่างพากันรณรงค์ให้ประชาชนขับขี่ปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมา จากสถิติพบว่า อุบัติเหตุมักเกิดขึ้นมากในช่วงฉลอง วันที่ 13-15 เม.ย. จนก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน  แน่นอนว่า ประกันภัยเป็นระบบในการช่วยชดเชยเยียวยาเบื้องต้น

ข้อมูลจากสมาคมประกันชีวิตไทย ระบุ ช่วงสงกรานต์ ปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 386 ราย ซึ่งเมาแล้วขับเป็นสาเหตุหลัก และที่น่าตกใจ คือ ผู้เสียชีวิตในจำนวนนี้มีผู้ทำประกันชีวิตเพียง 97 ราย เท่านั้น

ยังไม่นับรวมประกันภัยรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งพบว่า ในประเทศไทยมีผู้ทำประกันประเภทนี้ไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์

“ในต่างประเทศใช้ระบบประกันภัย คือ เราจ่ายเงินประกันภัย เพื่ออย่างน้อยเกิดเหตุไม่คาดฝัน และเกิดความเสียหายขึ้น ประกันภัยจะเข้ามาช่วยเหลือจ่ายชดเชยเยียวยาให้ส่วนหนึ่งหรืออาจทั้งหมดในบางกรณี” ดร.สุเมธ องกิตติคุณ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกเล่ากับ DXC Online โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของการมีประกันภัย

ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า รถคันใดมีการทำประกันภัยและมีวงเงินคุ้มครองเหมาะสม กลไกการชดเชยเยียวยาจะทำได้ค่อนข้างเร็ว ในการพิสูจน์ว่า ใครผิดหรือใครถูก และประกันภัยจะมีความสามารถในการจ่ายได้ภายใน 6 เดือน ถึง 1 ปี

อย่างไรก็ดี หากการทำประกันภัยของการละเมิดไม่เพียงพอ หลายกรณีจึงมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม ซึ่งใช้ระยะเวลานาน

“งานวิจัยพบว่า การฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยเยียวยา เพียงแค่ศาลชั้นต้น อาจใช้ระยะเวลานานเกือบ 2 ปี เพื่อให้ได้คำตัดสิน แม้ปัจจุบันระบบศาลรวดเร็วขึ้นแล้ว แต่ก็ยังต้องใช้ระยะเวลานาน เพื่อสืบพยาน นัดไต่สวน ซึ่งมีบางคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 7-8 ล้านบาท ใช้ระยะเวลา 6-7 ปี”

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ จึงมองว่า ทางออกที่เหมาะสมระดับหนึ่ง คือ การชดเชยเยียวยาผ่านระบบประกันภัย เพื่อป้องกันตนเอง แม้เราไม่ได้ประมาทหรือทำผิด แต่เมื่อความเสียหายเกิดขึ้น ผู้ได้รับความเสียหายจะต้องรับการชดเชยที่เหมาะสม

โดยที่ผ่านมามีประกันภัยภาคบังคับที่มีวงเงินคุ้มครองค่อนข้างสูง ประมาณ 5 แสนบาท/การเสียชีวิต 1 ครั้ง ส่วนประกันภัยภาคสมัครใจหรือประกันภัยชั้น 1 มีวงเงินคุ้มครองประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งแนะนำให้อย่างน้อยผู้ขับขี่มีประกันภัยภาคบังคับไว้ตามกฎหมายกำหนด

“หลายกรณีที่เราเห็นว่า มีการละเลยไม่ต่อประกันภัยภาคบังคับ เพราะคิดว่าอาจไม่เป็นอะไร แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นมา จะพบว่า ไม่ไหวจริง ๆ  ทั้งที่ประกันภัยของรถยนต์ส่วนบุคคลเฉลี่ย 700 บาท หากไม่ทำแล้วเกิดเหตุต้องชดเชยหลายแสนบาท”

ทั้งนี้ จากสถิติพบว่า รถยนต์ส่วนบุคคลทำประกันภัยประมาณ 70-80 เปอร์เซนต์ ขณะที่รถจักรยานยนต์ ทำประกันภัยไม่ถึง 60%

ดร.สุเมธ จึงเห็นว่า รถจักรยานยนต์จะมีปัญหา หากเป็นผู้ละเมิดทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ แต่ไม่ได้ทำประกันภัยไว้ ทำให้ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือกรณีทุพพลภาพและเสียชีวิตก็ต้องจ่ายชดเชยด้วย ซึ่งโอกาสที่จะมีทุนทรัพย์มากขนาดนั้นชดเชยได้เป็นไปได้น้อยมาก

“รถจักรยานยนต์ ราคาคันละ 3 หมื่น – 5 หมื่นบาท ขายทิ้งยังไม่คุ้มกับสิ่งที่ต้องชดเชยไป ฉะนั้นประกันภัยจึงเป็นระบบตัวช่วยได้ ราคาเพียง 300 บาท/ปี”

ส่วน ‘เมาขับ’ แล้ว ‘ชน’ ประกันภัยควรจ่ายหรือไม่

ดร.สุเมธ อธิบายว่า โดยหลักการ ‘เมาแล้วขับ’ ประกันภัยไม่ควรจ่าย เนื่องจากผู้ขับขี่มีความประมาทเลินเล่อ และอยู่ในสภาพไม่พร้อมขับขี่รถ แต่ปัญหา คือ หากไม่จ่าย ผู้ได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าวจะไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้บริษัทประกันภัยในต่างประเทศจึงเลือกที่จะจ่ายไปก่อน แล้วค่อยไปไล่เบี้ยกับผู้กระทำผิดแทน เพื่อไม่ให้ภาระตกอยู่กับผู้เสียหาย

“อุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ซึ่งความประมาทนิดเดียว ก่อให้เกิดความเสียหายได้มาก โดยปัญหาหลัก ๆ คือ คนที่เดินทางใช้รถใช้ถนนอาจประเมินความสูญเสียต่ำเกินไป ทำให้ไม่ระมัดระวัง ประมาทเลินเล่อ คิดว่าดื่มนิดเดียวไม่เป็นไร ขับรถได้ หรือขับไปใกล้นิดเดียวไม่เป็นไร ใกล้บ้าน ไม่ถึงกิโล ขับออกไปก่อน ดีกว่าเดินกลับบ้าน ความคิดลักษณะนี้ย่อมก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

แล้วการขับรถเหมือนซื้อล็อตเตอรี่ แต่ครั้งนี้ ถ้าถูกรางวัลแล้ว ไม่ต้องไปไหน เพราะอาจกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง เดินทางไปไหนไม่ได้ หรือเสียชีวิต ซึ่งเมื่อเกิดเหตุแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ ฉะนั้น ช่วงเทศกาลจึงมีความเสี่ยงสูง ควรระมัดระวังการขับรถ หรืออย่าขับเมื่อไม่พร้อม และต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ใส่หมวกกันน็อค เพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาเมื่อเกิดเหตุได้”  นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ฝากข้อคิดเตือนสติผู้ขับขี่ในช่วงสงกรานต์ .

แชร์