ปี 2575 กรุงเทพฯ ตั้งเป้าเป็น ‘มหานครแห่งเอเชีย’ ซึ่งต้องดำเนินโครงการตามแผนพัฒนา 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) ทั้งนี้ ในระยะ 5 ปีแรก จะต้องทำให้กรุงเทพฯ ขึ้นอันดับเป็นมหานครปลอดภัย ซึ่งมีเรื่องปลอดอุบัติเหตุเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ย่อย
ทว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา จากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานมหานครปลอดภัยด้านปลอดอุบัติเหตุ ปรากฎว่า กรุงเทพฯ ลดอุบัติเหตุทางถนนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จากเป้าหมายต้องเป็นศูนย์ เพราะตั้งแต่ พ.ศ.2560-2562 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานของระบบรถโดยสารขนส่งมวลชน ทั้งสิ้น 156 ครั้ง แบ่งเป็น เกิดจากระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) 136 ครั้ง และเกิดจากรถบริการสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น 20 ครั้ง
ขณะที่การสร้างมาตรการป้องกันลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรของสำนักการจราจรและขนส่ง ทั้งหมด 133 โครงการ ในจำนวนนี้ได้รับงบประมาณ 78 โครงการ พบว่า ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการครบถ้วนทุกปี ตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2561–2565)
โดยมาตรการที่ยังไม่มีการดำเนินการเลย คือ มาตรการสร้างระบบวิเคราะห์และคาดการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนน มี 2 โครงการ คือ โครงการจัดทำฐานข้อมูลอุบัติเหตุบนถนนในกรุงเทพฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

สตง.จึงเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสั่งการให้สำนักการจราจรและขนส่งติดตามเร่งรัดผลการดำเนินงานของบริษัท ตามยุทธศาสตร์มหานครปลอดภัย เป้าประสงค์ระบบขนส่งมวลชนปลอดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง เพื่อทราบปัญหาและสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในการเดินรถ รวมทั้งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในสถานี พื้นที่จอดแล้วจร และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในบริเวณอู่จอดรถ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาปรับปรุงแก้ไข เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารที่มาใช้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งผู้ใช้รถใช้ถนนโดยรวม ตลอดจนเป็นการพัฒนางานด้านขนส่งมวลชนปลอดอุบัติเหตุอย่างประสิทธิผลตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี
พร้อมกันนี้ให้สำนักการจราจรและขนส่งพิจารณา กำหนดแนวทางการรวบรวมข้อมูลสำคัญด้านอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น สถานที่เกิดเหตุ จุดเสี่ยงและจุดอันตราย ลักษณะและสาเหตุเบื้องต้นการเกิดอุบัติเหตุ ความสูญเสียที่เกิดขึ้น สภาพถนน สภาพแวดล้อม เป็นต้น โดยอาจทำการสำรวจ จัดเก็บ รวบรวม หรือบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่มีการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน จุดเสี่ยงและจุดอันตรายในพื้นที่กรุงเทพมหานครเสร็จสิ้นแล้ว เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ คาดการณ์สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุ และวางแผนการดำเนินโครงการ/กิจกรรมภายใต้มาตรการสำคัญเพื่อลดความสูญเสียของอุบัติเหตุจราจร เพื่อให้อุบัติเหตุจราจรในเขตกรุงเทพมหานครลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี .
อ่านรายงานตรวจสอบฉบับเต็ม :รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานมหานครปลอดภัย ด้านปลอดอุบัติเหตุ ด้านปลอดภัยพิบัติ และด้านสิ่งก่อสร้างปลอดภัย