วานนี้ (16 ก.ย. 64) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการเสวนา “2564 จะมีน้ำท่วมใหญ่หรือไม่ เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร” จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานพันธมิตรด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยภายในงานมีนักวิชาการ และนักวิจัยด้านสภาพอากาศมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อมูล

ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย และอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมรับมือน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เคยเป็นหนึ่งในผู้จัดการปัญหาน้ำท่วมใน กทม. ว่า น้ำที่ท่วม กทม. มาจาก 2 แหล่งหลัก ๆ คือน้ำเหนือ และน้ำฝน บางครั้งอาจจะมีน้ำทะเลหนุนบ้างเล็กน้อย การป้องกันน้ำท่วม กทม. มี 2 แนวทาง คือ หนึ่งป้องกันไม่ให้ไหลมาก สองแต่ถ้าเข้ามาแล้วต้องระบายออกให้เร็วขึ้น โดย กทม.จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ก็ต่อเมื่อมีการพัฒนาซ่อมแซมระบบต่าง ๆ ล้าหลังกว่าปริมาณน้ำที่เข้ามาจากทั้ง 2 แหล่ง
สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่ กทม. มีโอกาสเจอ
- ร่องความกดอากาศต่ำอยู่กับที่ ไม่เลื่อนหรือสลายไป
- ลมที่ไม่ค่อยพัด ทำให้ไม่พัดพาฝนออกไป
- น้ำในเขื่อนมากถึง 60-70% ก็อาจส่งผลให้ กทม.ท่วมได้ เพราะต้องปรับการระบายน้ำ
- พายุที่อาจเข้ามาหลาย ๆ ลูกติดกันเหมือนช่วงปี 2554
- น้ำทะเลหนุนสูงสุด
- ทุ่งตะวันออกมีน้ำหลากเข้ามาเพิ่ม
โดยหนึ่งในวิธีการการแก้ปัญหาสำคัญที่ กทม. พยายามทำอยู่ คือ การเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำด้วยท่อกลางถนน (Pipe Jacking) ซึ่งมีความยาวรวมกว่า 3,000 กิโลเมตร แต่ก็ติดปัญหาที่อาจมีบางจุดตัน ซึ่งไม่สามารถระบุได้ และต้องคอยจัดการผลกระทบจากแม่น้ำเจ้าพระยาให้เข้ามามีผลกระทบกับการระบายน้ำใน กทม. ให้น้อยที่สุด ซึ่ง กทม. ได้พยายามร่วมมือกับกรมชลประทานในการช่วยตัดน้ำ ไม่ให้เข้ามาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
ดร.พิจิตต ยังกล่าวอีกว่า ความพยายามในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของ กทม. ณ ปัจจุบัน ก็สามารถเบาใจไปได้ส่วนหนึ่ง เพียงแต่ต้องคอยเฝ้าระวังสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยแปลงไปในอนาคตซึ่งต้องปรับตัวและเทคโนโลยีในการรับมือน้ำท่วมให้ทัน

ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2564 ว่าประเทศไทยต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ลานีญา แม้จะไม่เจอพายุหนักเท่าจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น แต่ยังต้องเจอกับสถานการณ์ฝนตกปริมาณมากอยู่ แต่คำถามคือ จะเท่าระดับน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 หรือไม่ จากการคาดการณ์ พบว่า โอกาสน้อยมากที่จะตกหนักจนเท่าปี 2554 ในภาคกลาง ภาคเหนือ แต่ภาคตะวันออกกลับเจอกับฝนตกหนักขึ้น
ทั้งนี้ ฝนที่ตกหนัก ไม่ได้หมายความว่าน้ำจะท่วมทุกพื้นที่ เพราะขึ้นอยู่กับการรับมือของพื้นที่ และศักยภาพในการระบายและบริหารจัดการน้ำ โดยความเสี่ยงน้ำท่วมใหญ่ปี 2564 ภาคกลางอยู่ที่ 10-20 % ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 20-40 % ภาคตะวันออก 30-40 % ภาคใต้ 50-60 % ซึ่งต้องเตรียมพร้อมรับมือเริ่มจากการประเมินความรุนแรงและความเสียหาย คาดการณ์ เตือนภัย แผนอพยพ การช่วยเหลือเยียวยา ตามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลถึงภาพรวมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ว่าสิ่งที่จะกำหนดฝนที่จะตกในประเทศไทยมีทั้งร่องมรสุม พายุหมุนเขตร้อน ปรากฏการณ์เอลนีโญหรือลานีญา ปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) ปรากฏการณ์ Madden-Julian Oscillation (MJO) และปัจจัยด้านสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง Climate Change ทำให้เกิดร่องมรสุมที่ผิดไปจากปกติ
ซึ่งจาก Climate Change ทำให้ร่องมรสุมเกิดการแปรปรวน ทำให้ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ฝนหายไปในลักษณะทิ้งช่วง รวมถึงรอยต่อเดือนมิถุนายน ถึงกรกฎาคม ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งลักษณะแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน สาเหตุเนื่องจากความกดอากาศสูงกำลังแรง (อากาศแห้ง) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก กดร่องมรสุมลงไปทางซีกโลกใต้ ซึ่งเริ่มกลับมาเป็นปกติในช่วงเดือนสิงหาคม

ทางฝั่ง ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เปิดเผยถึงปริมาณฝนในประเทศไทยช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2564 ฝนน้อยกว่าปกติ 5% โดยเฉพาะเดือนสิงหาคม มีฝนตกน้อยกว่าปกติไปกว่า 13% แต่หากมาดูในช่วงต้นเดือนกันยายน ช่วง 2 สัปดาห์แรกมีฝนตกหนัก ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
แต่ปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนขนาดใหญ่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ถือเป็นลุ่มที่เป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดทางการเกษตรของประเทศ ทำให้ตอนนี้น้ำถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก หากเปรียบเทียบกับปี 2554 มีน้ำมากถึง 22,336 ล้าน ลบ.ม. กับปัจจุบันมีเพียง 9 พันกว่าล้าน ลบ.ม.ซึ่งต่างกันเกินเท่าตัว และเกือบเท่ากับปีที่แล้งที่สุดคือปี 2558 ที่มีระดับน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 8 พันกว่าล้าน ลบ.ม.
ซึ่งจากการคาดการณ์ฝนช่วงเดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายน ฝนจะตกหนักขึ้นเกือบร้อยละ 40 ของฝนปีนี้ จะทำให้มีน้ำเติมลงเขื่อนทางภาคเหนือช่วงเดือนตุลาคม ส่วนช่วงเดือนพฤศจิกายน ฝนจะตกมากขึ้นที่บริเวณภาคใต้ แต่จะมีน้ำท่วมเหมือนปี 2554 และปี 2560 หรือไม่ พบว่า ปีนี้ไม่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่ก็จะมีฝนตกมากขึ้นตามลักษณะอุตุนิยมวิทยาของประเทศ

ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนวัตกรรมและงานวิจัย ที่นำมาวิเคราะห์ผลกระทบจากน้ำท่วมกับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น อาทิ ความเสี่ยงของข้าวที่ถูกน้ำท่วมและเสียหายในเดือนกันยายน 2564 ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณภาคกลางบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในกรณีที่แย่ที่สุด คือข้าวทั้งหมดถูกน้ำท่วมและตาย จะมีมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านบาท ส่วนเดือนตุลาคม อยู่ที่ 11,000 ล้านบาท แต่หากเลยเดือนพฤศจิกายนไปแล้ว มูลค่าความเสียหายก็จะลดลง และช่วงเดือนธันวาคม จะไม่ค่อยมีความเสี่ยง
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก ๆ อย่างเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ที่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาน้ำน้อยลงกว่าปี 2554 มาก จนปีหน้าอาจต้องระวังถึงเรื่องภัยแล้ง อาจทำให้การปลูกข้าวนาปรังต้นปี 2565 เผชิญกับภัยแล้งได้ เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ซึ่งเกิดจากทั้งการปลูกข้าวนาปรังมากกว่าแผนการเพาะปลูกสำหรับหน้าแล้ง ปีที่กรมชลประทานไม่ส่งน้ำก็ยังมีการปลูกข้าวน้ำปรัง รวมถึงปริมาณน้ำต้นทุนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งความเสี่ยงจากการที่ข้าวจะขาดแคลนน้ำในต้นปี 2565 มูลค่าความเสียหายอาจสูงถึง 15,000 ล้านบาท คล้ายกับสถานการณ์เมื่อช่วงต้นปี 2563

ทางด้าน ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน บอกว่า กรมชลประทานได้มีการเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นแล้ง หรือท่วม โดยมีแนวทาง คือ ต้นกักเก็บ กลางหน่วงน้ำ ปลายเร่งระบายน้ำ โดยจะเห็นว่าอ่างเก็บน้ำทางตอนเหนืออย่างลุ่มเจ้าพระยา ก็ยังคงเพียงพอในการกักเก็บน้ำได้ มีการทำทุ่งบางระกำให้ว่างเพื่อกักเก็บน้ำ รวมถึงทุ่งภาคกลาง คือ เจ้าพระยาเดลต้า ก็เตรียมการไว้สำหรับตัดยอดน้ำที่หลากลงมาจากภาคเหนือ
ซึ่งปี 2564 ทุ่งต่าง ๆ มีการเพาะปลูกเร็วขึ้น เนื่องจากน้ำที่มาเร็ว และคาดว่าจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ช่วงเดือนตุลาคม โดยจะสามารถรับน้ำเหนือได้เมื่อมีฝนมากขึ้นในช่วงปลายปี รวมถึงหากมีน้ำหลากมากกว่าปกติ ก็มีการตัดน้ำลงทั้งลุ่มเจ้าพระยา ตะวันตก และตะวันออก เพื่อเร่งระบายน้ำ ก่อนจะสูบน้ำลงทะเลให้เร็วที่สุด โดยเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมตามปลายคลองต่าง ๆ