เครื่องหมายอัศเจรีย์

เครื่องสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์ จ.สุพรรณบุรี งบฯ 12 ล. ไม่คุ้มค่าแก้แล้ง

เปิดผลสอบ สตง. ชำแหละเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ใน จ.สุพรรณบุรี ไม่คุ้มค่าแก้ภัยแล้ง เกษตรกรต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสูบน้ำเหมือนเดิม

เริ่มส่งสัญญาณร้าย! เมื่อปริมาณน้ำในลำน้ำธรรมชาติหลายแห่งเริ่มแห้งขอด จังหวัดต่าง ๆ จึงเริ่มออกมาตรการรับมือภัยแล้ง เพื่อให้น้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะการเพาะปลูกของเกษตรกร

กระทรวงพลังงานจึงดำเนินโครงการ “สูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง” ขึ้นในหลายจังหวัด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี พ.ศ.2559 จำนวนกว่า 520 ล้านบาท แต่จากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กลับพบว่า ในหลายพื้นที่มีปัญหาในการดำเนินงานตามขั้นตอน

อย่างล่าสุด สตง.เผยแพร่ผลการตรวจดำเนินงานโครงการ “สูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง จ.สุพรรณบุรี” ซึ่งติดตั้งในพื้นที่ อ.ดอนเจดีย์ 7 แห่ง, อ.หนองหญ้าไซ 6 แห่ง, อ.สามชุก 7 แห่ง และ อ.เดิมบางนางบวช 3 แห่ง รวม 23 แห่ง แห่งละ 520,000 บาท จากการจัดสรรงบประมาณทั้งหมด 12.96 ล้านบาท

พบว่า การดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้น้ำแต่ละกลุ่มมีผู้ใช้ประโยชน์จากระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ครบ 7 ราย ส่วนใหญ่มีผู้ใช้น้ำอยู่ระหว่าง 1 – 3 รายต่อกลุ่ม และพื้นที่ทำการเกษตรรวมกันไม่ถึง 15 ไร่ต่อกลุ่ม โดยผู้ใช้น้ำรวม 49 ราย ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย 112  ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 69.57 ของจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 161 ราย

อีกทั้งมีพื้นที่ที่ได้ใช้ประโยชน์จากระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ 286 ไร่ ต่ำกว่าเป้าหมาย  59 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 17.10 ของจำนวนพื้นที่ตามเป้าหมาย 345 ไร่ เนื่องจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่าปริมาณน้ำจากระบบสูบน้ำไม่เพียงพอ และพื้นที่การเกษตรอยู่ไกลจากที่ตั้งระบบส่งน้ำ

สตง. ยังระบุไว้ในผลการดำเนินโครงการฯ ว่า การใช้ประโยชน์จากระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้าแก่ผู้ใช้น้ำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และการใช้ประโยชน์ที่ผ่านมายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง

ทั้งนี้ พิจารณาได้จากงบประมาณในการก่อสร้างระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ 23 แห่ง รวมเป็นเงินกว่า 11 ล้านบาท หากพิจารณาถึงอายุการใช้งานแผงโซล่าร์เซลล์ที่ประมาณ 25 ปี พบว่า การใช้ประโยชน์ที่ผ่านมาปริมาณน้ำที่ผลิตได้จากระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มไม่คุ้มกับงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง

โดยปริมาณน้ำที่กลุ่มผู้ใช้น้ำทั้ง 23 กลุ่มผลิตได้ในระยะเวลาประมาณ 2 ปี มี 387,891 ลบ.ม. คิดเป็นค่าพลังงานไฟฟ้า 173,620 กิโลวัตต์ หรือคิดเป็นมูลค่าไฟฟ้า เป็นเงิน 607,670 บาท เมื่อเทียบกับอายุการใช้งานแผงโซล่าร์เซลล์ที่ประมาณ 25 ปี ของระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จะคิดเป็นมูลค่าไฟฟ้า ประมาณ 7,595,875 บาท หรือเพียงร้อยละ 65.69 ของงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง

โดยหากจะใช้ประโยชน์จากระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ให้เกิดความคุ้มค่า กลุ่มผู้ใช้น้ำแต่ละกลุ่มจะต้องมีการผลิตน้ำให้ได้อย่างน้อย ปีละ 12,824.45 ลบ.ม. หรือคิดเป็นเงิน 20,108.72 บาท ซึ่งที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ใช้น้ำ จำนวน 20 กลุ่ม ไม่สามารถผลิตน้ำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือคิดเป็นร้อยละ 86.95 ของจำนวนกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งหมด

ไม่เพียงเท่านี้ ยังพบว่า กลุ่มผู้ใช้น้ำร่วมสมทบอุปกรณ์ระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่เกษตร และการบริหารจัดการโครงการ ยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยกลุ่มผู้ใช้น้ำขาดแผนการใช้น้ำและจัดลำดับการใช้น้ำ ไม่มีแผนการปลูกพืช ไม่มีแผนซ่อมบำรุง และขาดการเก็บค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใช้น้ำ รวมถึงไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันดูแลระษาระบบระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งผลจากการสอบถามพบสาเหตุ  เนื่องจากไม่ทราบว่าต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการฯ ดังกล่าว

สตง.จึงเห็นว่า การดำเนินโครงการฯ ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายและหลักเกณฑ์นั้น กระทบการใช้จ่ายงบประมาณ 12.96 ล้านบาท ทำให้ไม่คุ้มค่ากับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำใน จ.สุพรรณบุรี เสียโอกาสในการได้รับการสนับสนุนระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และเกษตรกรต้องกลับไปใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำเช่นเดิม เป็นต้น

ท้ายที่สุด สตง. มีข้อเสนอแนะไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ดังต่อไปนี้

1.ให้สำนักงานพลังงานจังหวัดสุพรรณบุรีสำรวจความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มผู้ใช้น้ำ แล้วดำเนินการจัดสรรให้มีการใช้ประโยชน์เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และในการจัดทำโครงการ ต่อไป ควรมีการศึกษาสภาพปัญหาและสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายโดยคำนึงถึงความพร้อม ความเป็นไปได้ และประโยชน์กลุ่มเป้าหมายจะได้รับจากการจัดทำโครงการเพื่อให้การใช้จ่ายเงิน เป็นไปอย่างคุ้มค่าและเกิดผลสัมฤทธิ์

2. ดำเนินการส่งเสริมให้กลุ่มผู้ใช้น้ำเสริมสร้างการมีส่วนร่วมภายในกลุ่ม และส่งเสริมให้ใช้ ประโยชน์จากระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โดยควรจัดทำแนวทางดำเนินกิจกรรมที่ชัดเจน ทำข้อตกลงกับกลุ่ม เพื่อวางแนวทางให้กลุ่มสามารถใช้ประโยชน์จากระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างต่อเนื่องครบทุกราย ตามหลักเกณฑ์และเป้าหมายที่กำหนด และควรมีการเก็บรายได้ไว้บางส่วนเพื่อเป็นค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ เพื่อให้กลุ่มสามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างยั่งยืน ลดการพึ่งพาการสนับสนุนจากภาครัฐให้มากที่สุด อีกทั้งควรส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการกลุ่มที่เป็นรูปธรรม มีเอกสาร หลักฐาน กำหนดวิธีการดำเนินงาน รูปแบบการจัดทำบัญชีรายรับ–รายจ่าย

3. ให้สำนักงานพลังงานจังหวัดสุพรรณบุรีประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่รับมอบระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกลุ่มผู้ใช้น้ำ และร่วมกันกำหนดแนวทางการติดตามผลการดำเนินการของกลุ่มผู้ใช้น้ำในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การบริหารจัดการกลุ่ม การใช้งาน โดยควรให้มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบปัญหาและอุปสรรค.

แชร์