Thailand Web Stat Truehits.net
เครื่องหมายอัศเจรีย์

‘นพ.ธนะพงศ์’ วิเคราะห์ คน รถ ถนน ลดอุบัติเหตุเทศกาลหยุดยาว

การสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนมักมาพร้อมกับเทศกาลวันหยุดยาว โดยเฉพาะช่วงเดินทางและช่วงฉลอง โดยจากสถิติพบว่า ช่วงฉลองมักจะเกิดการสูญเสียมากที่สุด

สงกรานต์ปีนี้ก็เช่นกัน!

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศปวถ.) ระบุว่า การสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนจะพบมากในวันฉลอง ระหว่าง 13-15 เม.ย. ซึ่งสูงกว่าปกติ 2 เท่า โดยทุกวันนี้แนวโน้มการเสียชีวิตในวันปกติ มีตัวเลขการสูญเสีย 40-50  คนต่อวัน และบางช่วงขยับขึ้นมา 50-55 คนต่อวัน โดยเฉลี่ย 50 คนต่อวัน

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 3 ใน 4 มาจากรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ตาม หากสังเกตจะพบอีกว่า อัตราการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ในช่วงเทศกาลและปกติมีตัวเลขสูงใกล้เคียงกัน และผู้ขับขี่ร้อยละ 80-90 ไม่สวมหมวกนิรภัย ดังนั้น จำเป็นต้องรณรงค์ให้มีการสวมหมวกนิรภัย และจำกัดความเร็วไปพร้อมกันด้วย

“รถจักรยานยนต์สามารถใช้ความเร็วเขตเมือง 40-50 กม./ชม. ส่วนถนนทางหลวงอาจวิ่งขึ้นได้ 60-70 กม./ชม. แต่หากมองในแง่ความปลอดภัย ความเร็วที่สามารถป้องกันชีวิตได้ ไม่ควรเกิน 50-60 กม./ชม.”

นอกจากรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นยานพาหนะเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งแล้ว ผู้จัดการ ศปวถ. กล่าวว่า ยังมีรถโดยสารประจำทางสองชั้น (รถทัวร์สองชั้น) รวมอยู่ด้วย โดยยอมรับมีทั้งความเสี่ยงในการเกิดเหตุและเกิดเหตุแล้วจะรุนแรง

“ถ้าเป็นกลุ่มรถไม่ประจำทาง อย่างเอารถทัศนาจร ซึ่งเป็นรถทัวร์ขนาดสูง มาให้บริการ โดยกฎหมายจะกำหนดความสูงไว้ต้องไม่เกิน 4 เมตร  และกรณีเกิน 3.6 เมตรขึ้นไป ต้องผ่านการทดสอบพื้นเอียง แต่กฎนี้ยังไม่บังคับใช้กับรถรุ่นเก่า”

ไม่เพียงเท่านั้น รถทัศนาจรยังเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะไม่ชินทางหรือเพิ่งรับงานมาจากสถานที่หนึ่ง โดยไม่ได้หยุดพักผ่อน จนเกิดความล้า หลับใน และเมื่อเข้าสู่สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อมากขึ้น เพราะผู้โดยสารเต็มทุกที่นั่ง ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ย้ำว่า หากจำเป็นนำรถเสริมมาวิ่ง จะต้องเป็นชั้นเดียว และผู้ขับขี่ต้องคุ้นชินเส้นทาง ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อถึงความเสี่ยงทางกายภาพทางถนน เป็นอีกปัจจัยสำคัญให้เกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาล โดยเฉพาะถนนที่มีการก่อสร้าง รถที่วิ่งช่วงเวลากลางคืน จะพบในบางเส้นทางปิดเลน ไม่ติดไฟส่องสว่าง ป้ายเตือนไม่เพียงพอ ฉะนั้นจะกำกับดูแลอย่างไรให้เส้นทางสัญจรมีความพร้อมเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยก่อนผู้รับเหมาก่อสร้างหยุดทำงาน

นอกจากนี้เส้นทางยอดนิยมในแหล่งท่องเที่ยว อย่างเช่นเส้นทางขึ้นภูเขา น้ำตก ที่มีความลาดชัน ผู้ขับขี่อาจไม่คุ้นชิน ใช้ความเร็วไม่เหมาะสม ทำให้เกิดอันตราย ฉะนั้นต้องติดตั้งป้ายแจ้งเตือนการใช้ความเร็ว และอุบัติเหตุมักเกิดขึ้นเมื่อเจอทัศนวิสัยไม่ดี พายุฤดูร้อน ทำให้ฝนตก ถนนลื่น

ที่สำคัญ ผู้ขับขี่มักขาดข้อมูลการคาดการณ์หรือไม่มีประสบการณ์ในการคาดการณ์ ว่าเมื่อใดควรชะลอรถหรือเปิดประตูรถ หรือขี่รถจักรยานยนต์ไม่ควรตีคู่รถขนาดใหญ่ ซึ่งเขามองว่า สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน .

แชร์