Thailand Web Stat Truehits.net
เครื่องหมายอัศเจรีย์

หนุนเรียนออนไลน์ ยกเลิกระบบ ‘แพ้คัดออก’

พลิกวิกฤต ‘โควิด-19’ เป็นโอกาส ‘นพ.สุริยเดว’ ชี้เด็กไทยเรียนออนไลน์ โอกาสน้อยเสี่ยงเครียด-ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย ลดซ้ำรอยสหรัฐฯ แนะอุดช่องโหว่ยกเลิกระบบ ‘แพ้คัดออก’ ส่งเสริมเรียนไฮบริด ไม่ต้องปิดเรียนทั้งหมด

แม้ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นของนักเรียนในลาสเวกัส สหรัฐฯ ในช่วงที่โรงเรียนมีนโยบายให้เรียนผ่านระบบออนไลน์ จะเกี่ยวโยงกับการปิดโรงเรียนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือไม่ แต่ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) ชี้ชัดให้เห็นว่า เยาวชนในประเทศมหาอำนาจนี้มีปัญหาสุขภาพทางจิตเพิ่มขึ้นจริง จนนำไปสู่การพยายามฆ่าตัวตายในช่วงโควิด-19

กลับมาดูประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาโรคระบาดทำให้โรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงต้องปิดการเรียนการสอนและให้นักเรียนต้องศึกษาผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสกัดการแพร่ระบาด แต่ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการถึงอัตราการพยายามฆ่าตัวตาย หรือฆ่าตัวตายจากความเครียดที่เกี่ยวโยงกับการปิดโรงเรียน

‘DXC Online’ สอบถามไปยัง ‘รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี’ ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ในฐานะนักจิตวิทยาเด็กและเยาวชน ถึงโอกาส ความเสี่ยง แนวทางแก้ไข และป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเกิดความเครียด จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย

รศ.นพ.สุริยเดว ฉายให้เห็นภาพชัดถึงโอกาสที่ไทยจะพบอัตราการฆ่าตัวตายในนักเรียนที่เรียนออนไลน์ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 น้อยมาก โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยและช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) เพราะเด็กช่วงอายุดังกล่าวยังไม่มีความเข้าใจว่า ภาวะซึมเศร้าจะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย แต่กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในวัยรุ่นเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องหาวิธีการป้องกันไม่ให้ความเครียดสุกงอมจนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในที่สุด

โดยเสนอให้ช่วงโควิด-19 ใช้ระบบการเรียนการสอนแบบไฮบริด (Hybrid) ในระดับชั้นมัธยมศึกษา เปิดโอกาสให้นักเรียนที่สามารถเข้าเรียนได้ แจ้งความจำนงเข้ามา ภายใต้มาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด วิธีการเช่นนี้เปรียบเหมือนการนำวิชาสุขศึกษาขึ้นมาไว้ในวิถีชีวิต ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ส่วนนักเรียนที่มาไม่ได้ก็ให้เรียนออนไลน์แทน และใช้ระบบเพื่อนติวเพื่อนเข้ามาเสริม

“โควิด-19 เป็นวิกฤตก็จริง แต่อีกมุมถือเป็นโอกาสทำให้เรารื้อระบบการศึกษาในหลายเรื่อง ซึ่งปัจจุบัน (ร่าง) พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ยังไม่ได้เข้าสภา จึงน่าจะปฏิรูปเลยหรือไม่ อะไรเป็นปัญหาเดิม ก็ให้ยกเลิกไป แล้วทำให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข”

ข้อเสนอสำคัญ คือ ยกเลิกระบบการเรียนการสอน ‘แพ้คัดออก’ ซึ่งนักจิตวิทยาเด็ก มองว่า เป็นสาเหตุสร้างความตึงเครียดแก่นักเรียน คนไม่เก่งจะกลายเป็นเด็กหลังห้องและหลุดออกจากระบบการศึกษา บางคนกลายเป็นมิจฉาชีพ และหากใช้ในเด็กปฐมวัยหรือช่วงชั้นที่ 1 เท่ากับเป็นการทารุณกรรมเด็ก

รศ.นพ.สุริยเดว จึงคาดหวังว่า วิกฤตโควิด-19 จะเป็นแปรรูปเป็นโอกาส ล้มระบบแพ้คัดออก ซึ่งถูกมองเป็นอุตสาหกรรมการศึกษา เพื่อพัฒนาไปสู่การเรียนรู้จากแรงบันดาลใจให้ได้.

แชร์