เครื่องหมายอัศเจรีย์

ไพบูลย์ นวลนิล : แผ่นดินไหว 7.7 ลบภาพจำ ‘สึนามิ’ ไม่ใช่ ‘คลื่นยักษ์’ เสมอไป

เทียบแผ่นดินไหว 7.7 ทำความเข้าใจ ‘สึนามิ’ กับ ‘อ.ไพบูลย์ นวลนิล’ ผู้เชี่ยวชาญฯ ลบภาพจำ ปี 47 เมื่อ ‘สึนามิ’ ไม่ใช่ ‘คลื่นยักษ์’ เสมอไป แล้วไฉนไทยยังเสี่ยงกับภัยพิบัตินี้

แม้แผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาด 7.7 มีศูนย์กลางทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะลอยัลตี้ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ใกล้ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 จนเกิดสึนามิความสูง 30-70 ซม. เมื่อเข้าใกล้ฝั่ง ซึ่งบริเวณดังกล่าว เรียกกันว่า ‘วงแหวนแห่งไฟ’ ทำให้สื่อสำนักต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยต่างพากันรายงานสถานการณ์ หากปฏิเสธไม่ได้ว่า คนไทยที่รับข้อมูลข่าวสารยังคงมีภาพจำว่า ‘สึนามิ’ ต้องเป็น ‘คลื่นยักษ์’ ที่เคยถาโถมในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เมื่อปี 2547 จนเกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง

ภาพถ่ายโดย GEORGE DESIPRIS จาก Pexels

สึนามิ (Tsunami) เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า คลื่นท่าเรือ แต่มักถูกนำไปใช้ในความหมายทางอ้อมว่า คลื่นขนาดใหญ่ เกิดขึ้นบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะวงแหวนแห่งไฟในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งในระหว่างที่เคลื่อนตัวในมหาสมุทร บางครั้งผู้อยู่บนเรือเดินสมุทรอาจไม่รู้สึก เพราะคลื่นจะสูงเพียง 30 ซม.-1 ม. เท่านั้น และจะเพิ่มความสูงขึ้นเมื่อเข้าหาฝั่งเขตน้ำตื้น

สร้างความเข้าใจ ความหมาย ‘สึนามิ’ ลบภาพจำ ‘คลื่นยักษ์’ ที่มีกำลังทำลายล้างสูง

“สึนามิ คือ สึนามิ มีความสูง 5 ซม. หรือ 10 ซม. ก็ได้ ไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นคลื่นยักษ์ เหมือนปี 2547”

อ.ไพบูลย์ นวลนิล ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว  เริ่มต้นพูดคุยกับ DXC Online ด้วยการชวนกันสร้างความเข้าใจเรื่องสึนามิกันใหม่ โดยเปรียบให้เห็นภาพชัดต่อไปว่า สึนามิเหมือนกับรถ มีตั้งแต่มินิคาร์ไปจนถึงรถขนาดใหญ่อย่างสิบล้อหรือรถพ่วง รถในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึงรถสิบล้อเสมอไป เช่นเดียวกันกับสึนามิ

บางครั้งคนไม่เข้าใจ พอเอ่ยถึง ‘สึนามิ’ จะพากันตื่นตระหนก ทั้งที่ความจริงแล้ว ยกตัวอย่าง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในแถบเกาะสุมาตราและทะเลอันดามัน เกิดสึนามิขึ้นหลายครั้ง แต่ไม่มีใครรับรู้ เพราะมีความสูงไม่มากและไม่เกิดการสูญเสีย ดังนั้น จึงไม่มีการรายงานข่าว”

อย่ากระนั้นเลย ภัยพิบัติแผ่นดินไหวก็เช่นกัน ‘อ.ไพบูลย์’ กล่าวว่า หากไม่ส่งผลให้เกิดการสูญเสีย คนไม่ล้มตาย บ้านเรือนไม่ได้รับความเสียหาย จะไม่มีการรายงานข่าว ทั้งที่ความจริงแล้ว แผ่นดินไหวเกิดขึ้นทุกวันทุกเวลา ซึ่งทั่วโลกเกิดขนาด 4-6 ประมาณ 25-30 ครั้ง โดยไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้

ส่วนประเทศไทยใช่ว่าจะรอดพ้นจากภัยพิบัตินี้ เพราะปัจจุบันมีรอยเลื่อนอย่างเป็นทางการ 15 รอยเลื่อน ได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่อิง รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนปัว รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ รอยเลื่อนระนอง รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย และรอยเลื่อนมะยม

โดยทฤษฎี ระบุว่า ที่ไหนมีรอยเลื่อน ที่นั่นยังมีพลังเกิดแผ่นดินไหวได้ทั้งสิ้น ฉะนั้นโอกาสจึงมีและอย่าละเลย นาน ๆ อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังเช่น แผ่นดินไหวที่เชียงรายและลาว ขนาด 6 เป็นต้น แม้ลาวจะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน แต่คลื่นแผ่นดินไหวเดินทางเข้าในประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง จึงเห็นว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยของประชาคมโลก

อ.ไพบูลย์ ยังไขข้อสงสัยเพราะเหตุใดสึนามิที่เกิดในเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.7 เมื่อวันที่ 10 ก.พ. จึงมีความสูงไม่ถึง 1 ม. เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2547 ครั้งเกิดที่เกาะสุมาตรา ขนาด 9.1 ทั้งที่ขนาดใกล้เคียงกัน ได้รับคำตอบว่า ขนาดของแผ่นดินไหวในสองเหตุการณ์นั้นห่างกัน 1.4 หน่วย ทำให้มีพลังงานแตกต่างกันประมาณ 50 เท่า

ประกอบกับการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในเหตุการณ์เมื่อปี 2547 เกือบเป็นแนวดิ่ง 90 องศา ขณะที่เมื่อวันที่ 10 ก.พ. บริเวณเกาะลอยัลตี้เป็นแนวเฉียง 65 องศา จึงทำให้การเขย่าและผลักมวลน้ำแตกต่างกัน คล้าย ๆ กับการนำมือลงไปแกว่งในอ่างน้ำในแนวเฉียงและดิ่งส่งผลต่อการกระเพื่อมของน้ำที่แตกต่างกันเช่นกัน

แชร์