เครื่องหมายอัศเจรีย์

เปิดแผนงานบูรณาการด้านน้ำ ปี 65 คนนอกเขต กทม.ต้องเข้าถึงประปา 8.2 แสนครัวเรือน

เปิดแผนงานบูรณาการด้านน้ำ ปี 65 จำนวน 1.1 หมื่นรายการ ใน 9 กระทรวง คนนอกเขต กทม.ต้องเข้าถึงน้ำประปา 8.2 แสนครัวเรือน ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม พื้นที่น้ำท่วมต้องลดลง 1.8 ล้านไร่

ที่ประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 คณะที่ 1.2 แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2564 ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณาแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และ (ร่าง) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

โดยปีนี้เป็นปีแรกที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ และแผนงบประมาณการบริหารทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุถึงการพิจารณาแผนงานบูรณาการด้านน้ำ ปี 2565 ประกอบด้วยแผนงานจาก 23 หน่วยงาน ใน 9 กระทรวง จำนวนทั้งสิ้น 11,524 รายการ ที่มุ่งเน้นเป้าหมายและตัวชี้วัด ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่

ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ประชาชนนอกเขตกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงน้ำประปาได้ 825,601 ครัวเรือน

ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตได้ โดยมีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มอีก 620.81 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นพื้นที่รับประโยชน์ 2,160,509 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ถึง 495,262 ครัวเรือน

ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบลดลง 1,810,914 ไร่ ป้องกันตลิ่งได้ 254 กิโลเมตร

ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยแหล่งน้ำธรรมชาติได้รับการฟื้นฟูและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสีย 97 แห่ง

ด้านที่ 5 การอนุรักษ์ ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน สามารถฟื้นฟูป่าและป้องกันการชะล้างของดินพื้นที่ต้นน้ำได้ 333,410 ไร่

ด้านที่ 6 การบริหารจัดการ มีแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครอบคลุมทั้ง 25 ลุ่มน้ำอย่างสมดุล

“หลังจากนี้ สทนช. จะจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการตามหลักเกณฑ์ที่ได้พิจารณาร่วมกัน คือ เป็นโครงการพระราชดำริและโครงการตามนโยบาย และเป็นโครงการที่มีการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เป็นพื้นที่ท่วม-แล้งซ้ำซาก และอยู่ในพื้นที่เป้าหมาย Area Based 66 พื้นที่ เพื่อให้มีความสมบูรณ์ชัดเจน สามารถขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการได้อย่างเป็นระบบ และหน่วยงานจะได้ส่งคำขอตั้งงบประมาณให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ตามปฏิทินงบประมาณ ต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

แชร์